เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ชื่อ
การปลูกหม่อนมุกดาหาร
ชม 195 ครั้ง
56
เจ้าของ
ผศ.ดร.ไกรศรี ศรีทัพไทย
เมล์
kraisri03@gmail.com
รายละเอียด
การปลูกหม่อน
ในปัจจุบันนี้ ใช่ว่าจะปลูกเพื่อเลี้ยงไหมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อจำหน่ายในรูปแบบผลสด ใบชา การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูป หรือเพื่อประโยชน์ทางยา การปลูกหม่อน กลายเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ในรั้วบ้าน และเป็นเกษตรกรรมทางเลือกใหม่ ที่ทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำทีเดียว ต้องศึกษาความต้องการของหม่อนให้ดีเสียก่อน ที่จะนำหม่อนมาปลูก
สายพันธุ์หม่อน ที่นิยมปลูกในประเทศไทย
1. พันธุ์เชียงใหม่ 60 ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี เหมาะสำหรับ
รับประทานสดและแปรรูปทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม
2. พันธุ์นครราชสีมา 60 ให้ผลผลิตสูง นิยมใช้คุณภาพของใบกับการ
เลี้ยงไหม และทำใบชา ใบเป็นรูปไข่ สีเขียว มีความนุ่ม ลำต้นมีสีเทา
3. พันธุ์บุรีรัมย์ 60 นิยมปลูกเพื่อรับประทานผลสดและทำใบชา ซึ่ง
หม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 นี้ให้ผลผลิตใบหม่อน เฉลี่ย 4,300 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี ใบใหญ่ หนานุ่ม ไม่เหี่ยวง่าย มีคุณค่าทางอาหารสูง มีความต้านทานต่อโรคใบด่าง ต้านทานโรคราแป้งได้ปานกลาง แต่ไม่แข็งแรงพอที่จะต้านทานโรคราสนิม ขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ปลูกในแปลงโดยตรง ควรปลูกในเขตชลประทาน หรือเขตที่มีปริมาณน้ำฝนสูง
4. พันธุ์ศรีสะเกษ 33 ให้ผลผลิตสูงและ เหมาะต่อการเลี้ยงไหมเป็น
อย่างดี ต้านทานต่อโรคใบด่างได้ดี มีผลผลิตใบหม่อนไม่แตกต่างจากพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และนครราชสีมา 60 แต่มีปริมาณโปรตีนในใบหม่อนโดยเฉลี่ยสูงกว่าพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และนครราชสีมา 60 มีอายุการเก็บเกี่ยวได้นาน ข้อจำกัดของสายพันธุ์นี้คือ ท่อนพันธุ์ออกรากยาก ในการขยายพันธุ์ด้วยท่อนพันธุ์จึงต้องใช้สารกระตุ้นการงอกของราก
5. พันธุ์สกลนคร ทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งได้ดีกว่าพันธุ์บุรีรัมย์ 60
ปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่ มีความ
ต้านทานโรครากเน่า ขยายพันธุ์ง่าย สามารถใช้ท่อนพันธุ์ปลูกในแปลงได้โดยตรงหรือปักชำก่อนปลูก และให้ผลผลิตใบหม่อนเฉลี่ย 3,507 กิโลกรัม ต่อไร่
6. พันธุ์หม่อนน้อย เป็นหม่อนพันธุ์พื้นเมือง ให้ผลผลิตดี ใบมีคุณภาพ
และปริมาณธาตุอาหารสูง ใบมีความหนานุ่ม มีความมัน ไม่เหี่ยวง่าย ใช้เลี้ยงไหมได้นาน ซึ่งเหมาะใช้เลี้ยงไหมมากที่สุด ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการปักชำท่อนพันธุ์ในแปลงโดยตรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถเจริญเติบโตได้ดีไม่ว่าดินจะมีความอุดมสมบูรณ์มากหรือน้อยก็ตาม
7. พันธุ์คุณไพ ทนแล้ง ปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่ ทนทานโรครากเน่า
และตอบสนองต่อปุ๋ยสูง ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือปลูกด้วยท่อนพันธุ์อายุ 6-10 เดือนในแปลงโดยตรงปัจจัยที่ควรคำนึงถึงก่อนการปลูก
สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม
โดยปกติแล้ว หม่อน เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่การปลูกหม่อนเพื่อจำหน่ายหรือรับประทานผลสดนั้น ต้องคำนึงถึง พื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูกดังนี้
เป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดี และมีหน้าดินลึก
ดินมีค่า pH อยู่ในระหว่าง 6.0 – 6.5
เป็นพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดโรครากเน่าของหม่อน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องแก้ไขโดยการใช้ต้นพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรครากเน่า
อยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือมีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน ที่หม่อนกำลังติดดอกออกผล และเก็บเกี่ยวผล เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผลผลิต
มีการคมนาคมที่สะดวกต่อการขนส่งผลผลิต
อยู่ใกล้ผู้รับซื้อผลผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากระยะทางการขนส่ง เนื่องจากผลหม่อนเป็นผลไม้ที่เสียหายได้ง่าย
ฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับการปลูกหม่อน
ต้นฤดูฝนปลายเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม หรือตามสภาพของฝนในแต่ละท้องถิ่น เนื่องจากดินมีความชุ่มชื้นดี หม่อนจะตั้งตัวได้เร็วและการเจริญเติบโตดี รากแข็งแรงแผ่กระจายได้ลึก เมื่อถึงฤดูแล้งของปีต่อไป หม่อนจะไม่ตาย
ขั้นตอนการปลูกหม่อน
การเตรียมดิน
1. ไถพลิกดิน ตากแดดไว้ประมาณ 2 ถึง 3 วัน เพื่อกำจัดแมลงศัตรู เชื้อโรคต่างๆ ที่อยู่ในดิน และวัชพืช
2. ไถพรวน ให้ดินร่วนซุยเหมาะแก่การเจริญเติบโต
3. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ประมาณ 1,200 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วไถกลบให้เข้ากันกับดิน
4. ควรกั้นรั้วเพื่อป้องกันสัตว์ต่างๆ เข้ามาทำลายแปลงหม่อน เช่น โค กระบือ ฯลฯ
การเตรียมหลุมปลูก
มี 2 วิธี คือ
1. การขุดหลุมลึก 50 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50
เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยเศษหญ้า ฟางแห้งหรือซังข้าวโพด ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก จากนั้นกลบดิน 1 ชั้นก่อนทำการปลูกหม่อน
2. ขุดหลุมเป็นร่องยาวตามแปลงปลูก กว้างและลึก 50 เซนติเมตร
ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือแปลงปลูกหม่อน รองก้นหลุมด้วยเศษหญ้า ฟางข้าว ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก แล้วใช้ดินที่ขุดไว้กลบ แล้วนำท่อนพันธุ์ปักตามระยะที่กำหนด
*ระยะปลูก สามารถปรับลดลงได้ ถ้าดินในพื้นที่เพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์น้อย หรือเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านมาก*
การขยายพันธุ์
1. นำท่อนพันธุ์ไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้โดยตรง
2. นำท่อนพันธุ์ไปปักชำในแปลงเพาะชำก่อน แล้วจึงย้ายไปปลูกต่อไป
การเตรียมท่อนพันธุ์
การขยายพันธุ์หม่อน ไม่ว่าด้วยวิธีปักชำ หรือนำท่อนพันธุ์ไปปลูกในแปลงโดยตรงก็ตาม มีขั้นตอนการเตรียมท่อนพันธุ์ด้วยวิธีเดียวกัน ดังนี้
1. เลือกกิ่งจากต้นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพใบดี นำมาเป็นท่อน
พันธุ์
2. ท่อนพันธุ์ควรมีอายุอยู่ในช่วง 4 ถึง 12 เดือน กิ่งควรมีขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ถึง 1.5 เซนติเมตร มีผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาลมีตาที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น โรครากเน่า และโรคใบด่าง กิ่งที่แข็งแรงจะอาหารสะสมที่เพียงพอ จะช่วยให้การแตกรากและกิ่งก้านเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรง
3. ใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่งหรือมีมีดที่คมตัดท่อนพันธุ์ ระวังอย่าให้ท่อน
พันธุ์ ฉีกและช้ำ ขนาดความยาวท่อนละประมาณ 20 เซนติเมตร หรือมีตาหม่อนอยู่บนท่อนพันธุ์ประมาณ 4 ถึง 5 ตา ตัดส่วนบนของท่อนพันธุ์เป็นแนวตรง (เพื่อลดการคายน้ำ)ห่างจากตาบนสุดประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนโคนของท่อนพันธุ์ตัดเป็นแนวเฉียงหรือเป็นรูปปากฉลามประมาณ 45 องศา ต่ำกว่าข้อตาล่างสุดประมาณ 1.5 เซนติเมตร
4. นำไปปลูกหรือปักชำทันที ถ้าหากไม่สามารถนำไปปลูกหรือปักชำได้
ทันทีให้เอาท่อนพันธุ์เก็บไว้ในร่ม ใช้แกลบเผาหรือขี้เลื่อยหรือกระสอบคลุมไว้ แล้วรดน้ำให้ชุ่มวันละครั้ง จะสามารถเก็บท่อนพันธุ์ไว้ได้นาน 2 สัปดาห์ในหน้าฝน หรือ 1 สัปดาห์ในหน้าแล้งเพื่อไม่ให้ตาเหี่ยว
การปักชำ
ใช้วิธีการปักชำแบบเดียวกับพืชทั่วไป โดยการเสียบกิ่งลงดินลึกประมาณ 7 ถึง 10 เซนติเมตร ให้ตายอดตั้งขึ้น ในแนวเฉียงประมาณ 40 ถึง 50 องศา ระยะห่างการปักชำในแปลงประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร แล้วรดน้ำหรือหากปักชำในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม ไม่ต้องรดน้ำหลังปักชำก็ได้ เพราะกิ่งจะอาศัยน้ำฝนเติบโตได้เองตามธรรมชาติ
วิธีปลูก
1. นำท่อนพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกในแปลงโดยตรง ใช้หลักไม้ปักตาม
แนวที่ต้องการ นำเชือกที่ได้ทำเครื่องหมายกะระยะระหว่างต้นไว้เรียบร้อยแล้ว ขึงให้ตึงระหว่างหลักทั้งสอง แล้วให้นำท่อนพันธุ์หม่อนซึ่งเตรียมไว้ปลูกหลุมละ 2 ท่อน ปลูกโดยปักท่อนพันธุ์ตั้งฉากกับพื้นดิน โดยปักลงในหลุมที่เตรียมไว้ ในฤดูแล้งหรือในดินที่มีความชื้นในดินลึก ปักท่อนพันธุ์ลึกลงในดิน 3 ใน 4 ส่วนของความยาวท่อนพันธุ์ หรือมีตาอยู่เหนือพื้นดิน ประมาณ 1 ตา ในฤดูฝน ให้ปักท่อนพันธุ์ลึก 1 ใน 2 ของความยาวท่อนพันธุ์ โดยให้มีตาเหนือพื้นดินประมาณ 3 ตา
2. การปลูกโดย นำท่อนพันธุ์หม่อนที่ปักชำไว้ในแปลงเพาะชำนำมา
ปลูกในแปลงหรือหลุมที่เตรียมไว้ ในการปลูกควรขุดหลุมปลูก ปลูกให้ท่อนพันธุ์เดิมจมลงไปในดินโผล่ขึ้นมาเฉพาะกิ่งแขนงใหม่เท่านั้น หลังจากปลูกแล้วเหยียบดินรอบโคนต้นให้แน่นพอควร
การดูแลหม่อนหลังการปลูก เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปลูกหม่อนให้ได้ผลผลิตสูง การดูแลหม่อนหลังการปลูก ไม่ยากแต่ต้องรู้ใจหม่อน ถ้าเปรียบเทียบกับคน หม่อนจะเป็นคนที่เป็นระเบียบ ไม่ชอบอะไรที่รกรุงรัง เพราะฉะนั้น ต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งให้หม่อนบ่อยๆ เด็ดใบออก แล้วหม่อนก็จะผลิดอกออกผลให้เต็มต้น นอกจากนี้ การดูแลหม่อน ยังรวมไปถึงการให้น้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดวัชพืช การดูแลเรื่องโรคและแมลงที่มารบกวนหม่อน
ขั้นตอน การดูแลหม่อน
การให้น้ำ
ในฤดูแล้งควรให้น้ำแก่หม่อน เพื่อให้หม่อนใช้ในการเจริญเติบโต
การให้น้ำสามารถใช้ปล่อยน้ำไหลเข้าไปในแถวของหม่อนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1ครั้งในฤดูแล้ง หรือรดน้ำพอชุ่มทุกวันในช่วงเช้า
หม่อนในระยะที่หม่อนติดผลแล้ว ต้องให้น้ำกระตุ้นการแตกตาทุก
วันในช่วงเช้า หากขาดน้ำจะทำให้ผลหม่อนฝ่อก่อนที่จะสุก หรือทำให้ผลหม่อนมีขนาดเล็ก
ให้น้ำพอชุ่ม และจัดการการระบายน้ำอย่างให้ท่วมขัง ช่วยให้ดิน
สามารถถ่ายเทอากาศได้ดีรากหม่อนไม่ขาดออกซิเจน จุลินทรีย์ในดินสามารถเจริญเติบโตได้ดี หากปล่อยให้น้ำขังโคนต้น หม่อนจะแสดงอาการใบเหลือง ชะงักการเจริญเติบโต และต้นหม่อนจะเหี่ยว
การพรวนดินและการรักษาความชื้นในดิน
ในฤดูแล้ง ดินจะขาดความชุ่มชื้น ทำให้หม่อนชะงักการเติบโต ไม่มี
ใบเลี้ยงไหมหรือทำชา การพรวนดินให้ร่วนซุยและใช้วัสดุ เช่น หญ้าแห้ง หรือฟางแห้งคลุมดินจะช่วยรักษาความชื้นในดิน ป้องกันการระเหยของน้ำจากผิวดิน ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น
การให้ปุ๋ย
ปริมาณการให้ปุ๋ยนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่ง
นอกจากปุ๋ยแล้ว อาจจะต้องใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินด้วย แต่การใส่ปูนขาวควรเพิ่มอินทรียวัตถุและต้องใส่ให้เหมาะสม ถ้าใส่ปูนขาวมากเกินไปจะทำให้ปุ๋ยสลายตัวเร็วจนพืชไม่ทันใช้ให้เป็นประโยชน์
ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 10 ถึง 15 กิโลกรัม ต่อต้น หรือใส่ปุ๋ยคอก
หรือปุ๋ยหมัก 10 กิโลกรัม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในปริมาณ 250 กรัม ต่อต้น (หรือใส่รวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่) หรือใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตราไร่ละ 100 กิโลกรัม
ระยะเวลาการให้ปุ๋ย - แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต่อ 1ปี ครั้งแรกใส่ตอนต้นฤดู
ฝนช่วงเดือนตุลาคม หรือ เดือนพฤศจิกายน และหลังการเก็บเกี่ยว
การกำจัดวัชพืช
หม่อนที่ปลูกใหม่ ควรมีการกำจัดวัชพืชบ่อยๆ เพราะต้องปลูกหม่อนในต้นฤดูฝนซึ่งเป็นระยะที่วัชพืชขึ้นและเจริญเติบโตได้ดีมาก
หม่อนต้นโต ควรกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ เพราะวัชพืชเป็นตัวแย่งธาตุอาหารในดิน แย่งน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของโรคและแมลงอีกด้วย
การตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาทรงพุ่ม
ตัดเฉพาะกิ่งแขนงที่ไม่สมบูรณ์และเป็นโรคทิ้ง เพื่อลดการสะสมโรคและแมลงศัตรู
การเก็บเกี่ยวใบหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์ไทย
เกษตรกรควรทำการตัดต่ำหม่อน โดยตัดต้นหม่อนสูงจากพื้นดิน 30
เซนติเมตร ใช้เลี้ยงไหมรุ่นที่ 1 ประมาณ 60 ถึง 75 วัน
การเก็บใบหม่อนรุ่นที่1 เก็บใบให้เหลือใบส่วนยอดไว้ 4 ถึง 5 ใบ
แล้วปล่อยให้หม่อนพักตัวประมาณ 30 ถึง 45 วัน
การเก็บใบหม่อนรุ่นที่2 เก็บใบให้เหลือใบส่วนยอด 4 ถึง 5 ใบ แล้ว
ปล่อยให้หม่อนพักตัวประมาณ 30 ถึง 45 วัน
การเก็บใบหม่อนรุ่นที่3 เก็บใบทั้งหมด แล้วทำการตัดกลางโดยตัด
กิ่งหม่อนให้สูงจากพื้นดิน 0.80 – 1.00 เมตร จากนั้นประมาณ 30 ถึง 45 วัน สามารถเก็บใบหม่อนไปเลี้ยงไหมรุ่นที่ 4 ได้
การเก็บใบหม่อนรุ่นที่4 เก็บใบให้เหลือใบส่วนยอดไว้ 4 ถึง 5 ใบ
แล้วปล่อยให้หม่อนพักตัวประมาณ 30 ถึง 45 วัน
บันทึกโดย