เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวประเภทถ้ำ โดยการศึกษาเปรียบเทียบถ้ำที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างถ้ำธรรมชาติ คือ ถ้ำละว้า อำเภอไทรโยค และถ้ำที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ คือ ถ้ำอุโมงค์จากการทำเหมือง ป่าชุมชนสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ โดยศึกษาทั้งด้านประวัติศาสตร์ ธรณีวิทยา การจัดทำแผนผังถ้ำ และการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ที่พบในถ้ำทั้งสองบริเวณ รวมทั้งแผนการท่องเที่ยวถ้ำของทั้งสองพื้นที่ ผลการศึกษา พบถ้ำทั้งสองพื้นที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน โดยถ้ำละว้า เป็นถ้ำแรกในจังหวัดกาญจนบุรีที่มีการศึกษาทางด้านชีววิทยาอย่างจริงจัง และมีหลักฐานปรากฏชัดเจน อีกทั้งยังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จำนวน 3 ประเภท คือ หลักฐานเครื่องเศษปั้นดินเผา โลงไม้ และชิ้นส่วนกระดูกของสิ่งมีชีวิต ขณะที่ถ้ำอุโมงเหมืองแร่ เป็นอุโมงค์ที่เกิดจากการขุดหาแร่ตะกั่วและสังกะสีในอดีต และเพิ่งหยุดสัปทานไปเมื่อปี 2548 ซึ่งปัจจุบันอุโมงค์ได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยการศึกษาทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พบพืชบริเวณปากถ้ำละว้า ทั้งหมด 8 วงศ์ 11 ชนิด ขณะที่บริเวณปากถ้ำอุโมงค์ พบพืชทั้งหมด 25 วงศ์ 40 ชนิด โดยมีสัตว์ถ้ำในทั้งสองพื้นที่รวมกันมากกว่า 70 ชนิด จาก 48 วงศ์ โดยถ้ำละว้าพบสัตว์ถ้ำอย่างน้อย 47 ชนิด ขณะที่ถ้ำอุโมงค์พบสัตว์ถ้ำอย่างน้อย 31 ชนิด แสดงให้เห็นว่า ถ้ำทั้งสองมีความสามารถในการรองรับความหลากหลายทางชีวภาพได้เป็นอย่างดี และมีสัตว์ถ้ำไม่น้อยกว่า 5 ชนิด มีแนวโน้มสูงมากที่จะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก เช่น แมงกระดานถ้ำ แมลงหางดีด มด ปู และตั๊กแตน เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาทางด้านอนุกรมวิธาน นอกจากนี้ยังมีการสร้างแผนบริหารจัดการและรูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำ จากถ้ำทั้งสองพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ (กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานการท่องเที่ยวกาญจนบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ภาคเอกชนและชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งการจัดการอบรมไกด์ท้องถิ่นเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำ ทั้งความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ธรณีวิทยา ชีววิทยา และความหลากหลายทางชีวภาพ
