เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
การพัฒนาฟาร์มต้นแบบเกษตรอัจฉริยะบนระบบไอโอที ของการเลี้ยงปลากะพงขาวความหนาแน่นสูงในระบบปิดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
การทำเกษตรไม่ว่าจะเป็น พืช ปศุสัตว์ แม้กระทั่งการทำประมง เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน มนุษย์จึงต้องเรียนรู้และพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ที่มีมากขึ้น เช่นความต้องการให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น การลดต้นทุนการผลิต การลดการใช้แรงงาน การติดต่อสื่อสารถึงกันข้อจำกัดด้านระยะทางลดน้อยลงจากการใช้เวลาในการติดต่อที่ยาวนานในอดีตจึงเปลี่ยนไป เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารสามารถนำพาข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถทำการเกษตรที่เป็นเรื่องยาก กลับกลายเป็นเรื่องที่ง่ายดาย (นายธีรพงศ์, 2554) ดังนั้น การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเข้ากับงานด้านการเกษตร เพื่อจะนำมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับเกษตรกร เทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะนั้นตั้งอยู่บนแนวคิดของการทำเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farm)
ในที่นี้การเลี้ยงปลากะพงน้ำจืดเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจเพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเมื่อเทียบกับปลาน้ำจืดชนิดอื่น ๆ ในปัจจุบัน แหล่งน้ำจืดหลายพื้นที่เริ่มมีการความสนใจและมีการเลี้ยง หากสามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงปลากะพงน้ำจืดได้โดยการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะมาช่วยในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ จะเป็นต้นแบบที่สามารถทำรายได้ต่อหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกร การเลี้ยงปลากะพงขาวน้ำจืดในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงปลากะพงขาวให้ประสบความสำเร็จ หัวใจสำคัญต้องควบคุมคุณภาพน้ำให้ได้ค่า กรด-ด่าง (PH) 7.5 ควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 28-31 องศา มีการวางระบบน้ำไหลหมุนเวียนมาสู่เครื่องกรองถังขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 2 ถัง ที่ติดตั้งไว้นอกโรงเรือน ถังแรกจะนำน้ำออกมาพร้อมกรองแอมโมเนียแล้วส่งน้ำไปยังถังที่สอง ก่อนจะสูบเข้าไปในบ่อเลี้ยง ทุกๆ สัปดาห์จะเติมน้ำจืดเข้าไปเพื่อทดแทนน้ำที่ระเหย (นิวุฒิ และทิพสุคนธ์, 2561)
ด้วยเหตุนี้จึงมีการศึกษาและพัฒนาการเลี้ยงปลากะพงขาวน้ำจืดความหนาแน่นสูง ในระบบน้ำหมุนเวียน โดยการนำเกษตรอัจฉริยะเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยการมีเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพน้ำอัตโนมัติ และสามารถแจ้งเตือนให้เกษตรกรหรือเจ้าของฟาร์มได้ทันที ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อการเลี้ยงปลา และสามารถขยายผลสู่โครงการยกระดับผู้ประกอบการสัตว์น้ำด้วยระบบติดตามแจ้งเตือนสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพเคมีและชีวภาพด้วยเทคโนโลยี IoT เป็นระบบที่จะช่วยในการเฝ้าระวัง ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และวางแผนป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะต่างๆ ในบ่อเลี้ยงได้ โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
https://kb.mju.ac.th/innovation.aspx?id=3977