เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ชื่อ
การผลิตสารสกัดจากใบหม่อน สำหรับใช้เป็นส่วนผสม ของผลิตภัณฑ์ชุมชน
ชม 446 ครั้ง
57
เจ้าของ
รศ.ดร.จันทิมา ชั่งสิริพร, นางสาวพฤกระยา พงศ์ยี่หล้า และนางสาวนิรณา ชัยฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เมล์
juntima.c@psu.ac.th
รายละเอียด
1. ใบหม่อน (Mulberry leave)
หม่อน (Mulberry) เป็นพืชยืนต้นที่ปลูกมากในประเทศไทย เพื่อใช้เลี้ยงตัวไหมและ
ผลิตชาเขียวจากใบ เนื่องจากใบหม่อนมีโปรตีนประมาณ 20-29% และมีสารต้านอนุมูลอิสระ
ที่สำคัญหลายชนิด คือ สารดีอ็อกซิโนจิริมายซิน (Deoxynojirimycin) มีผลในการลดระดับ
น้ำตาลในเลือด สารฟายโตสเตอรอล (Phytosterol) มีประสิทธิภาพในการลดระดับ
คอเลสเตอรอล สารเควอซิติน (Quercetin) และเคมเฟอรอล (Kaempferol) เพื่อป้องกัน
การดูดซึมน้ำตาลในลำไส้เล็ก ทำให้กระแสเลือดหมุนเวียนดีและหลอดเลือดแข็งแรง อีกทั้งมี
แร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม นอกจากนี้ยังมีปริมาณสารกาบาที่
สูงกว่าข้าวถึง 10 เท่า
โดยทั่วไปในการเก็บผลหม่อนจะต้องตัดแต่งกิ่งต้นหม่อนทุกครั้ง ทำให้มีใบหม่อนทิ้ง
เป็นจำนวนมากหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งใบหม่อนเป็นแหล่งสารสำคัญโดยมีปริมาณกาบาที่
ค่อนข้างสูง การสกัดกาบาจากใบหม่อนสำหรับนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเสริมเพื่อ
ขายเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน จึงเป็นประโยชน์ที่ทำให้เกิดการสร้างรายได้แก่เกษตรกรภายใน
ชุมชนและนำของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยกระบวนการที่จะได้มาซึ่งกาบาที่มีคุณสมบัติ
ตามต้องการนั้น ต้องอาศัยขั้นตอนที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพธรรมชาติของกาบา
เพื่อให้สารกาบาที่ได้ยังคงคุณสมบัติตามต้องการอยู่ได้
2. สารกาบา (Gamma aminobutyric acid, GABA)
สารกาบาเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ มีหน้าที่สำคัญในการเป็นสารสื่อประสาท
(Neurotransmitter) ประเภทสารยับยั้งในระบบประสาทส่วนกลาง GABA จึงเป็นสารอาหารที่ร่างกาย
ต้องการเนื่องจากมีสารป้องกันการเสื่อมของสมอง สารกาบาเป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโนอิสระ
โดยรวมของพืชชั้นสูงหลายชนิด เช่น ข้าว พืชตระกูลถั่ว และธัญพืชอื่นๆ มีคุณสมบัติในการปรับลด
ความดันโลหิต (Hypertension) อีกทั้งยังเป็นสารที่รักษาสมดุลในสมองที่ได้รับการกระตุ้น เพื่อช่วย
ป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคลมชัก ช่วยให้รู้สึกสงบ ลดอาการวิตกกังวล
และช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับ ซึ่งยังเพิ่มอัตราการเผาผลาญของเซลล์สมอง ยับยั้งและป้องกัน
การเกิดเซลล์มะเร็ง
3. กระบวนการเตรียมและสกัดใบหม่อน
3.1 การบ่มใบหม่อนในสภาวะไร้อากาศและเตรียมใบหม่อนสำหรับการสกัด
1. นำใบหม่อนสดที่เก็บมาจากต้นที่มีการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์มาล้างทำความสะอาด
ด้วยน้ำสะอาด ใส่ในกล่องปิดขนาด 50 ลิตร
2. สร้างสภาวะไร้ออกซิเจนด้วยการเติมไนโตรเจนเพื่อไล่ออกซิเจนออกจากกล่อง แล้วปิด
กล่องบ่มเป็นเวลา 8 ชั่วโมง แสดงดังรูปที่ 1
3. นำใบหม่อนที่ได้จากการบ่มไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 50oC เป็นเวลานาน 8 ชั่วโมง หลังจาก
นั้นนำมาบดด้วยเครื่องบดและร่อนผ่านตะแกรงขนาด 40 mesh เก็บตัวอย่างในโถดูดความชื้น
เพื่อเตรียมสู่กระบวนการสกัดต่อไป
3.2 กระบวนการสกัดใบหม่อน
1. นำใบหม่อนปริมาณ 100 กรัม เติมตัวทำละลาย คือ เอทานอลเข้มข้นร้อยละ 50 ที่
อัตราส่วนใบหม่อนต่อตัวทำละลาย 1:10 กวนสารด้วยเครื่องกวนสารแบบแกนหมุนที่ความเร็ว
200 rpm เป็น 1 ชั่วโมง
2. นำสารที่ได้มากรองและนำเข้าเครื่องหมุนเหวี่ยงที่ 4000 rpm เป็นเวลา 5 นาที
จะได้สารสกัดที่มีลักษณะใสสีเขียว หลังจากนั้นแยกตัวทำละลายออกจากสารสกัดด้วย
เครื่องระเหยตัวทำละลาย (Rotary evaporator) ที่ความดันไอ 100 mbar อุณหภูมิอ่างน้ำที่ 40oC
จะได้สารสกัดลักษณะข้นมีสีเขียวเข้ม แสดงกระบวนการสกัดดังรูปที่ 2
4. ปริมาณสารกาบาในใบหม่อน
การสกัดสารกาบาจากใบหม่อนด้วยตัวทำละลายเอทานอลที่ความเข้มข้น
ร้อยละ 50 ในการศึกษาการเพิ่มของปริมาณสารกาบาด้วยการบ่มใบหม่อนในสภาวะ
ไร้อากาศของใบหม่อนสายพันธุ์เชียงใหม่ 60 พบว่า ใบหม่อนที่บ่มในสภาวะไร้อากาศ
มีปริมาณสารกาบาเพิ่มขึ้นจาก 116.24 เป็น 205.52 มิลลิกรัมกาบาต่อ 100 กรัม
ใบหม่อนแห้ง เนื่องจากในระหว่างกระบวนการบ่มสารเคมีในใบหม่อนเกิดการ
เปลี่ยนแปลงเป็นกรดอะมิโนและกลูโคซิเดสเกิดเป็นสารกาบา ทำให้มีปริมาณกาบา
สูงขึ้น หากเปรียบเทียบปริมาณสารกาบาของใบหม่อนสายพันธุ์เชียงใหม่ 60 กับ
ใบหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 พบว่า ปริมาณสารกาบาในใบหม่อนพันธุ์เชียงใหม่ 60 สูงกว่า
ใบหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ที่มีปริมาณกาบาเพียง 121.24 มิลลิกรัมกาบาต่อ 100 กรัม
ใบหม่อนแห้ง แสดงให้เห็นว่าใบหม่อนพันธุ์เชียงใหม่ 60 (พันธุ์หม่อนผล) มีการสะสมของ
สารกาบาสูงกว่าใบหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 (พันธุ์หม่อนใบ) ซึ่งปริมาณสารกาบาที่
ได้จากใบหม่อนมีปริมาณสูงกว่าข้าวสังข์หยดงอกถึง 20 เท่า โดยข้าวสังข์หยดงอก
มีปริมาณสารกาบาเพียง 10.45 มิลลิกรัมกาบาต่อ 100 กรัมข้าวแห้ง
5. การนำไปใช้ประโยชน์
การพัฒนากระบวนการสกัดกาบาจากใบหม่อนที่เป็นของเสียจากการทำ
เกษตรอินทรีย์ เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับการต่อยอด
เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของใบหม่อน การจัดการของเสียที่เหลือทิ้ง
และการทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ อันจะทำให้วิสาหกิจชุมชนสามารถพัฒนา
ผลิตภัณฑ์และกระบวนการได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการที่
เหมาะสมจากผลงานวิจัย ที่ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้และนำ ไปสู่การพัฒนา
ได้อย่างยั่งยืน
บันทึกโดย