เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
วัตถุประสงค์การศึกษาครั้งนี้ เพื่อศึกษาความสมบูรณ์พันธุ์ของกระบือนมพันธุ์มูร่าห์ (Murrah, M) ลูกผสมมูร่าห์ (Murrah x Thai swamp crossbred, MS) และกระบือปลักไทย (Thai swamp buffalo, S) ที่เลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมอากาศร้อนชื้นในฟาร์มของเกษตรกร (มูร่าห์ฟาร์ม) ตั้งอยู่ที่อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ทำการรวบรวมข้อมูลด้านสภาพแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ ข้อมูลความสมบูรณ์พันธุ์ ได้แก่ อายุเมื่อให้ลูกตัวแรก และช่วงห่างการให้ลูก ระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2560 วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธี Least Square Analysis ในโปรแกรมสำเร็จรูป ผลการศึกษา พบว่า อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของสภาพแวดล้อมมีค่าดัชนีอุณหภูมิ–ความชื้น (Temperature - Humidity Index, THI) เฉลี่ยตลอดปี เท่ากับ 79.86 ซึ่งมีค่าสูงกว่าค่า THI ที่กระบือนมดำรงชีวิตอย่างสุขสบาย (Thermo Neutral Zone, TNZ) ที่มีค่า THI ≤78 อายุเมื่อให้ลูกตัวแรกของกระบือทั้งสามกลุ่ม พบว่า มีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) โดยกระบือ S มีค่าสูงกว่า MS และ M โดยมีค่าเท่ากับ 4.93 4.66 และ 4.60 ปี ตามลำดับ ช่วงห่างการให้ลูก (calving interval, CI) พบว่า M มี CI ระหว่างลูกตัวที่ 1 -2 สูงกว่า MS และ S (P<0.05) โดยมีค่าเท่ากับ 18.85, 17.22 และ 16.23 เดือน ตามลำดับ ส่วนค่า CI ระหว่างลูกตัวที่ 2 - 3, 3 – 4, 4 – 5, 5 - 6 และ ค่า CI เฉลี่ยของกระบือทั้ง 3 สายพันธุ์ มีค่าไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยกระบือ M, MS และ S มีค่า CI เฉลี่ย เท่ากับ 15.75, 15.48 และ 15.02 เดือน ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า ค่า CI ของกระบือนมทั้งสามกลุ่มมีแนวโน้มลดลงเมื่อจำนวนการให้ลูกเพิ่มขึ้น