เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
เครื่องหยอดสารแคลเซียมคาร์ไบด์สำหรับการปลูกสับปะรดอนุสิทธิบัติไทย เลขที่ 12146
การปลูกสับปะรดเพื่ออุตสาหกรรมต้องมีวิธีการบังคับให้ต้นสับปะรดออกดอกและเก็บเกี่ยวพร้อมกัน เนื่องจากต้นสับปะรดออกดอกช้าและไม่สม่ำเสมอ วิธีการบังคับการออกดอกของสับปะรดที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติกันทั่วไป คือ การให้สารแคลเซียมคาร์ไบด์ (Calcium Carbide) ที่เรียกว่า ถ่านแก๊ส หรือการให้สารอีทีฟอน (Ethephon) ชื่อการค้าหลักคือ อีเทรล (Ethrel) แต่เกษตรกรในเขตภาคตะวันตก รวมทั้งจังหวัดราชบุรี นิยมที่จะใช้ถ่านแก๊ส เนื่องจากมีราคาถูกและสามารถหาซื้อได้ง่าย วิธีให้สารสารต้องใช้แรงงานคนเดินหยอดลงไปที่ยอดของต้นสับปะรดทีละต้น โดยใน 1 รอบการปลูกต้องมีการหยอดสาร 2 ครั้ง ด้วยการใช้นิ้วนิ้วโป้งและนิ้วชี้หยิบเกร็ดแคลเซียมคาร์ไบด์ หยอดลงในยอดสับปะรด ตรงๆ โดยใช้ ประมาณ 8 – 15 เกร็ด (ประมาณ 3 กรัม) ซึ่งต้องทำซ้ำเช่นเดียวกัน หลังจากหยอดครั้งแรก 5-7 วัน แต่วิธีนี้ต้องปฏิบัติในช่วงเย็นหรือเช้ามืด หรือหลังจากฝนตกในช่วงเย็น เพื่อให้มีน้ำค้างหรือน้ำขังอยู่ในยอดสับปะรด วิธีการนี้จึงมีข้อจำกัดในการใช้ในช่วงฤดูแล้ง จากคำนวณโดยประมาณสำหรับการปฏิบัติในพื้นที่ปลูกสับปะรดส่งโรงงานจำนวน 30 ไร่ พบว่าต้องใช้ระยะเวลาในการหยอดสารหรือถ่านแก๊ซไม่ต่ำกว่า 10 วัน โดยใช้จำนวนแรงงานในการหยอดไม่ต่ำกว่า 10 คน คิดเป็นค่าแรงงาน 2,500 บาท ความเร็วในการหยอดโดยประมาณคือ 20 ต้นต่อนาที
การใช้แรงงานคนที่ต้องก้มตัวหยอดสารต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อีกทั้งยังต้องสัมผัสสารเคมีโดยตรง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น จึงได้คิดประดิษฐ์เครื่องหยอดสารแคลเซียมคาร์ไบด์ในการปลูกสับปะรดแบบอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้เกษตรกรทำงานได้อย่างสะดวกสบายและลดเวลาในการหยอดสารประกอบแคลเซียมคาร์ไบด์ และลดข้อจำกัดเรื่อง ความต้องการน้ำจากธรรมชาติในการให้สาร จึงทำการออกแบบและสร้างเครื่องหยอดสารแคลเซียมคาร์ไบด์ในรูปแบบสารละลาย รูปแบบสะพายหลัง โครงสร้างหลักเป็นอลูมิเนียม มีแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน และใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการทำงานของเครื่องด้วยการตั้งเวลาการทำงาน หลักการทำงาน โดยสามารถควบคุมปริมาตรการหยอดสารในแต่ละครั้งให้มีปริมาตร 70 – 80มิลลิลิตร หรือคิดเป็นน้ำหนักสารแคลเซียมคาร์ไบด์ 2.8 – 3.2กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมต่อการชักนำให้ต้นสับปะรดออกดอกพร้อมกัน ทดสอบและปรับปรุง ประสิทธิภาพของเครื่องหยอดสารฯ เทียบเท่าหรือสูงกว่าการหยอดสารด้วยมือแต่เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัยด้านการใช้งานของเครื่องฯ ซึ่งมีความเสี่ยงหากเกิดไฟรั่ว รวมทั้งน้ำหนักของโครงสร้างหลักทีใช้บรรจุสาร ทางตัวแทนทีมงานจึงได้พัฒนาเครื่องหยอดModel II โดยมีนายทองไส ช่วยชู ดัดแปลงโครงสร้างและปรับปรุงระบบการทำงาน จนได้โครงสร้างที่เบา มีราคาถูก เหมาะสำหรับการประยุกต์ใช้งาน ในสภาพไร่สับปะรด ดังภาพ
สนใจติดต่อ ผศ.ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี ศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สวท. มจธ. โทร 02-4709682 มือถือ 081-858633513