เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายที่จะใช้การบริหารประเทศแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ผลิตอาหารปลอดภัยจากสารพิษ จึงทำให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องตอบสนองต่อนโยบายนี้ และหน่วยงานรัฐที่ให้ทุนวิจัย เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) ได้เน้นงานวิจัยเกษตรอินทรีย์เช่นกัน ดังนั้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ปัญหาหลักในการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์มีอยู่ 2 เรื่อง คือ
1) การจัดการดินและธาตุอาหารพืช
2) การควบคุมศัตรูพืช เพราะการผลิตพืชอินทรีย์ห้ามการใช้สารเคมีที่ได้จากการสังเคราะห์ รวมทั้งปุ๋ยเคมีด้วย ดังนั้น จึงทำให้การผลิตพืชอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เกษตรกรเองยังขาดพื้นฐานทางด้านการผลิตในระบบนี้อยู่มาก และหน่วยงานที่จะให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ด้านนี้ก็มีอยู่น้อยมาก
จากการที่ได้ฝึกอบรมเรื่องการจัดการดินและธาตุอาหารพืช และการจัดการศัตรูพืชในระบบการผลิตพืชอินทรีย์ ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมา ได้มีโครงการอบรมเกษตรกรผู้สนใจการเกษตรอินทรีย์จำนวน ประมาณ 1,500 คน นั้น ทำให้ทราบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ทราบวิธีการที่จะทำการเกษตรในระบบนี้เลย แต่อย่างไรก็ดีการที่มีเกษตรกรเข้าร่วมในโครงการนี้มากก็เป็นโอกาสที่จะให้เกษตรกรได้มีโอกาสเรียนรู้และเตรียมตัวปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบนี้ ซึ่งคล้ายคลึงกับการเกษตรยั่งยืนถ้าปฏิบัติได้ก็จะทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ดินมีสภาพที่เสื่อมโทรมและขาดความอุดมสมบูรณ์ การผลิตที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเข้าร่วมซึ่งสามารถทำได้แต่ยากมากและมีต้นทุนสูงในระยะแรก ๆ
ปัญหาหลักเรื่องดินและปุ๋ยก็คือ ดินทำการเกษตรส่วนใหญ่มีอินทรียวัตถุต่ำ จึงขาดไนโตรเจน การผลิตพืชอินทรีย์ในระยะเริ่มต้นจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของเกษตรกรที่จะหาแหล่งไนโตรเจนที่ไม่ใช่จากปุ๋ยเคมีให้แก่พืชอย่างพอเพียง ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งถ้าอยู่ในรูปปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกจะต้องให้ในปริมาณที่สูง ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงด้วย ปุ๋ยอินทรีย์ที่ให้ไนโตรเจนสูง ได้แก่ พืชตระกูลถั่วต่างๆ เช่น โสน ปอเทือง ถั่วพร้า แต่ต้องมีไรโซเบียมอยู่ที่ปมรากด้วย การใช้ปุ๋ยพืชสดจากถั่วดังกล่าว เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในด้านการเตรียมพื้นที่ปลูก และไถกลบก่อนปลูกพืชหลัก จึงเหมาะสมกับพืชไร่เพราะสามารถใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ไถกลบได้ สำหรับในนาข้าวสามารถใช้ได้แต่เกษตรกรจะต้องทำการปลูกก่อนที่น้ำจะขังในนา และทำการไถกลบก่อนน้ำขัง เพราะถ้าน้ำขังกระบวนการหมักที่เกิดขึ้นจะอยู่ในสภาพที่ไร้อากาศ และวัสดุพืชยังสดอยู่มีปริมาณมากจะทำให้เกิดสารพิษต่าง ๆ ออกมาจากกระบวนการนี้ ได้แก่ แก๊สไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์,H2S), กรดบิวทาริก, อะซิติก, โพรพิโอนิก และจะเกิดรุนแรงมากในดินเนื้อหยาบ เช่น ดินทราย ดินร่วนปนทราย ดินร่วน เป็นต้น จะสังเกตได้ง่ายเมื่อลงไปย่ำในดินจะพบฟองแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์และมีเทนผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมากและมีกลิ่นแก๊สไข่เน่า ผลกระทบกับข้าวจะเกิดตั้งแต่ 20 วัน หลังปักดำ จนกระทั่งออกรวง อาการเริ่มจากรากที่มีสีขาวจะจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำในที่สุด รากอ้วนสั้น มีรากขนอ่อนน้อย จึงมีผลทำให้ต้นข้าวเหลือง แคระแกรน ผลผลิตต่ำ
กลุ่มเกษตรกรทำนาที่จังหวัดสุรินทร์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการผลิตข้าวอินทรีย์กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เกษตรกรกลุ่มกลุ่มนี้ได้ใช้ปุ๋ยพืชสดจากโสนแอฟริกัน (Sesbania rostrata) โดยทำการปลูกต้นฤดูฝนแล้วทำการไถกลบก่อนทำนา พบว่า ทำให้ข้าวได้ผลผลิตสูงพอควร โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ในปีที่ 2 ผลผลิตสูงขึ้น การที่ผลผลิตในปีแรกไม่สูงมากอาจเป็นเพราะว่าปริมาณไนโตรเจนน้อย เพราะเกษตรกรคงไม่ได้ใช้ไรโซเบียม จึงทำให้ถั่วสร้างปมได้น้อย แต่ต่อมาเมื่อโสนมีปมมากขึ้น จึงทำให้ถั่วเจริญเติบโตดีมากและสะสมไนโตรเจนมากขึ้น จึงทำให้ได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิสูงขึ้นถึง 480 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรได้บอกว่าเมื่อใช้โสนในปีที่ 3 ข้าวจะมีอาการเฝือใบ ทั้งนี้ เพราะว่ามีไนโตรเจนมากเกินไป จากการพูดคุยกับเกษตรกรพบว่าปัญหาในการใช้โสนแอฟริกาก็คือต้นโตมากไม่สามารถจะใช้รถไถนาขนาดเล็กไถกลบลงดินได้โดยตรง ต้องใช้มีดสับต้นให้เป็นท่อนเล็ก ๆ ก่อน ซึ่งต้องเสียแรงงานมาก จึงได้ถามว่าทำไมไม่ใช้แหนแดง (Azolla) เขาบอกว่าเคยมีผู้พูดเรื่องนี้เหมือนกันแต่เขาไม่รู้จัก จึงได้อธิบายให้ฟังว่า แหนแดงเหมาะที่จะใช้ในนาข้าวมาก เพราะในโพรงใบมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชื่อ Anabaena azollae อาศัยอยู่ จึงสามารถเอาไนโตรเจนจากอากาศมาใช้เป็นปุ๋ยไนโตรเจนได้เช่นเดียวกับไรโซเบียมและพืชตระกูลถั่ว แต่ใช้ง่ายกว่าสามารถเลี้ยงในนาข้าวได้เลย สามารถควบคุมไนโตรเจนได้ง่าย โดยควบคุมปริมาณแหนแดงในนาและแหนแดงยังสามารถใช้เป็นอาหารปลาได้ด้วย จึงเหมาะที่จะใช้ในระบบการเลี้ยงปลาในนาข้าวดีมาก ผม (ผู้เขียน) ได้ทำงานวิจัยเรื่องนี้มานาน สมัยอยู่กรมวิชาการเกษตร ขณะนี้ได้รวบรวมพันธุ์แหนแดงมาใหม่ และเลี้ยงขยายไว้ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นจำนวนมาก ในโครงการเกษตรอินทรีย์ของ สกอ. และยินดีจะให้เกษตรกรทดลองใช้ เกษตรกรกลุ่มนี้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และกำลังนำไปทดลองใช้
จากผลงานวิจัยในอดีต พบว่า แหนแดงสามารถใช้เป็นปุ๋ยข้าวได้ดีมาก และให้ไนโตรเจนได้มากเท่า ๆ กับปุ๋ยพืชสด แต่ต้องเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม เพราะพันธุ์พื้นเมืองของไทยค่อนข้างจะอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิน้ำสูงเกินไปจะเจริญเติบโตช้ามาก ปัจจุบันนี้ คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้คัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมไว้หลายพันธุ์ และยินดีที่จะให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้ สามารถติดต่อได้ที่ ศาสตราจารย์ ดร.นันทกร บุญเกิด โทร. 0-4421-7006
สถานที่ติดต่อ ฝ่ายปรับแปลงและถ่ายทอดเทคโนโลยีเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 111 ถ.มหาวิทยาลัย ต.สุรนารี อ.เมือง จ. นครราชสีมา 30000
เบอร์โทรศัพท์ 044-224-820, 044-224-920
E-mail : lamdaunxyz@hotmail.com,tatd@sut.ac.th
Website http://www.sut.ac.th