เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
เริ่มจากเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย ผ้าหนาสีดำเข้ม เช่น ผ้าลีวาย ไม้ระแนง ขนาด 1 นิ้ว และ ตะปู วิธีการทำ เริ่มจาก 1. ตัดไม้ยาว 1 เมตร จำนวน 4 ท่อน 2. ตัดไม้ยาว 0.5 เมตร จำนวน 8 ท่อน 3. นำมาประกอบเป็นโครงรูปสี่เหลี่ยม ขนาด 1×0.5×0.5 เมตร 4. ตัด และเย็บผ้าดำเป็นรูปตามลักษณะของโครงสี่เหลี่ยมที่ได้เตรียมไว้ แต่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เพื่อง่ายต่อการครอบบนโครงและเพื่อให้ผ้าดำมีความทึบแสงมากในสภาพกลางแจ้ง ผ้าที่เย็บสำหรับคลุมกรอบจะต้องเย็บทบกัน 2 ชั้น
วิธีการทำกุยช่ายขาว 1. เลือกกอกุยช่ายที่สภาพต้นมีความสมบูรณ์ สภาพแตกกอดี 2. ใช้มีดคมตัดกอกุยช่ายที่ระดับสูงเหนือผิวดินเล็กน้อย โดยตัดให้ขาดภายในครั้งเดียว เพื่อไม่ให้เกิดรอยช้ำ ซึ่งจะทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย ระหว่างการครอบ 3. ใช้กรอบไม้ที่บุด้วยผ้า 2 ชั้น ครอบกุยช่ายโดยกดส่วนกรอบไม้ด้านล่างให้จมลงดิน เพื่อไม่ให้แสงลอดเข้าไปได้ 4. คอยดูแลอย่าให้โครงไม้ที่ครอบเปิดออก 5. รดน้ำแปลงกุยช่ายตามปกติ 6.ทิ้งระยะเวลาไปประมาณ 10-12 วัน ต้นกุยช่ายเจริญเติบโตอยู่ภายในโครงไม้ครอบโดยไม่ได้รับแสงเลย ส่วนระบบรากยังคงสามารถดูดน้ำและแร่ธาตุได้ตามปกติ ใบกุยช่ายที่เจริญเติบโตภายใต้สภาพไม่ได้รับแสงจะมีสีขาว เมื่อครอบจนครบกำหนดดังกล่าว ใบกุยช่ายจะมีความยาว ประมาณ 25-26 เซนติเมตร 7. เมื่อครบกำหนด เปิดโครงไม้ที่ครอบไว้ออก จะพบอยู่ในสภาพขาวทั้งกอ ให้ใช้มีดคมตัดกุยช่ายขาวในระดับผิวดินนำไปล้างทำความสะอาดเพื่อส่งจำหน่ายต่อไป
หลังจากตัดต้นกุยช่ายขาวแล้ว กุยช่ายจะเจริญเติบโตแตกใบขึ้นมาใหม่ทดแทนใบที่ถูกตัดออกไป จำเป็นที่จะต้องบำรุงต้นกุยช่ายให้มีความสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ เพราะต้นกุยช่ายที่อยู่ใต้ดินได้สูญเสียแร่ธาตุไปมาก ประกอบกับไม่ได้รับแสงแดดเป็นระยะเวลา 10-12 วัน ทำให้ต้นอ่อนแอลง การบำรุงต้นกุยช่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยใส่ปุ๋ยต่าง ๆ ให้น้ำที่เหมาะสม ต้นกุยช่ายจะเจริญเติบโตสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะใช้เวลา ประมาณ 1-2 เดือนจึงสามารถครอบทำกุยช่ายขาวได้อีกครั้ง หมุนเวียนไปเช่นนี้ จนกว่าต้นกุยช่ายจะแสดงอาการทรุดโทรม จึงรื้อถอนและปลูกแปลงใหม่ ซึ่งแต่ละรอบปลูกจะใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับการบำรุงและดูแลรักษา การปลูกกุยช่ายขาว อาจเจอปัญหาโรคเน่า จากสาเหตุที่กอกุยช่ายขาดความสมบูรณ์ จึงควรดูแลจัดการต้นกุยช่ายให้สมบูรณ์ ทั้งก่อนและหลังการครอบ ต้องควรใส่ใจคัดเลือกสายพันธุ์กุยช่ายที่เหมาะสม เพราะโดยทั่วไปกุยช่ายที่ใช้ตัดดอกอ่อน จะไม่เหมาะในการทำกุยช่ายขาว เพราะมีใบขนาดเล็ก เมื่อทำกุยช่ายขาวไปหลาย ๆ ใบจะมีขนาดเล็กลงมาก ไม่สามารถจำหน่ายได้ ควรใช้พันธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์กุยช่ายใบจะเหมาะสมกว่า เพราะมีใบขนาดใหญ่
นอกจากนี้ หากมีแสงแดดลอดผ่านบริเวณผิวดินที่ครอบคลุมผ้าดำไม่สนิท หรือบริเวณที่มีรอยแตก จะทำให้ใบกุยช่ายขาวได้ไม่เพียงพอ ควรแก้ไขโดยกดกรอบไม้ให้จมดินแล้วนำแผ่นอิฐบล็อกวางทับผ้าคลุมกรอบไม้ให้เป็นระเบียบแนบสนิทกับพื้นดิน