เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ศูนย์เรียนรู้การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการบริหารจัดการธุรกิจเอทานอลจากมันสำปะหลังระดับชุมชนแบบครบวงจร
จากวิกฤติพลังงานโลกทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นปีละกว่าหนึ่งล้านล้านบาท เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลจึงกำหนดนโยบายและเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ให้ได้ 25% ภายในระยะเวลา 10 ปี(พ.ศ. 2564) เฉพาะในส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอลได้ตั้งเป้าหมายให้มีการใช้ภายในประเทศถึง 9 ล้านลิตรต่อวัน ในเรื่องดังกล่าวแม้ว่ารัฐบาลจะออกหลายมาตรการในการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลในเชิงพาณิชย์ และออกใบอนุญาตให้ก่อตั้งโรงงานไปแล้ว จำนวน 47 โรงงาน(12.295 ล้านลิตร/วัน) แต่ปัจจุบันนี้ยังคงมีโรงงานที่ผลิตได้เพียง 21 โรงงาน กำลังผลิตรวม 3.89 ล้านลิตร/วัน(ผลิตจริง ~ 1.4 ล้านลิตร/วัน) ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายมาก
จากการสำรวจของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พบว่า ปัญหาที่สำคัญสำหรับโรงงานที่ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังซึ่งถือเป็นวัตถุดิบหลักชนิดหนึ่งของประเทศไทย คือ การเก็บรวบรวมวัตถุดิบ และการขนส่ง (logistics) วัตถุดิบของโรงงานไม่มีประสิทธิภาพ และผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอล
จากวัตถุดิบมันสำปะหลังสูง
จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงงานที่ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังขนาดใหญ่ วว. จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังอย่างครบวงจร (มีการนำของเสียที่เกิดขึ้นไปพัฒนาเป็นผลพลอยได้) ขนาดเล็กในระดับชุมชน การดำเนินงานของโครงการจะเป็นการบูรณาการระหว่าง กลุ่มเกษตรกรที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบ วิสาหกิจชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และ/หรือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ให้การสนับสนุนและ/หรือร่วมลงทุน และมีหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ เช่น อุตสาหกรรมจังหวัด พลังงานจังหวัด สรรพสามิตจังหวัด พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด หน่วยงานด้านการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม หน่วยงานของกระทรวง
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น สำหรับการดำเนินงานอาจจัดตั้งในรูปแบบของระบบสหกรณ์การเกษตรโดย วว. จะทำการออกแบบก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลระดับชุมชน ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 5,000 ลิตร/วัน ซึ่งจะใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต และจะมีโรงงานผลิตผลพลอยได้(By-products) จากของเสียโรงงานเอทานอล อีก 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์ (Animal feed) โรงงานปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) และโรงงานก๊าซชีวภาพ (Biogas)
โรงงานแห่งนี้นอกจากจะถูกใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริหารจัดการธุรกิจสำหรับเชื้อเพลิงเอทานอลแบบครบวงจร ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และธุรกิจผลิตเอทานอลขนาดใหญ่แล้ว โรงงานแห่งนี้ยังจะสามารถช่วยผลิตบุคลากรด้านการผลิตให้กับโรงงานขนาดใหญ่ (ปัจจุบันยังขาดแคลนจำนวนมาก) ให้บริการวิเคราะห์ตัวอย่าง บริการด้านงานวิจัย และบริการข้อมูลให้กับภาครัฐและเอกชนได้อีกด้วย หากได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกร ชุมชน ประชาชน และประเทศชาติ หากประสบผลสำเร็จอย่างดีจะกลายเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ของประเทศไทยและของประเทศในกลุ่มอาเซียน (รองรับการเปิดประชาคม
เศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี พ.ศ.2558) ได้นำไปใช้ดำเนินการต่อไป สำหรับประโยชน์ในประเด็นเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) ให้กับประเทศและในภูมิภาค และการช่วยลดปัญหาโลกร้อน (Global Warming) เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การยอมรับในเรื่องนี้อยู่แล้ว
พื้นที่โครงการ
พื้นที่ (ราชพัสดุ) ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
โทรศัพท์ 0 2577 9000 ต่อ 9510 หรือ Call Center 0 2577 9300
เว็บไซต์ : www.tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th