เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้เลี้ยงสัตว์ ประสบกับปัญหาราคาอาหารสัตว์ หรือวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้น ในขณะเดียวกันผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์กลับมีราคาไม่สมดุลกับต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น สิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ คือ ต้นทุนค่าอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่ในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจากการที่ปัจจุบันวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในสูตรอาหารสัตว์ อาทิ ปลาป่น กากถั่วเหลือง ปลายข้าว และข้าวโพดมีราคาสูงขึ้น ตามกลไกตลาดหรือความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ต้นทุนค่าอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากเกษตรกรมีทางเลือก ในการเลือกใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีราคาถูก โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นผลพลอยได้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อนำมาทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถลดต้นทุนการผลิตสัตว์ในส่วนของค่าอาหารสัตว์ลงได้ และเนื่องจากจังหวัดเลย เป็นแหล่งผลิตพืชไร่ที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย นอกจากนี้จังหวัดเลยยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกเดือยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจากการที่จังหวัดเลยมีผลผลิตของเดือยมากที่สุดในประเทศ ตลอดจนมีการนำเข้าเดือยจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทางด่านชายแดนใน อำเภอท่าลี่ และอำเภอ เชียงคาน ของจังหวัดเลย ส่งผลให้เกิดโรงสีเดือยขึ้นในจังหวัดเลย โดยมีการรับซื้อเดือยจากเกษตรกรและนำเข้าจาก สปป.ลาว ในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ และมีการสีเดือยตลอดทั้งปี ซึ่งจากการสีเดือย เพื่อให้ได้ลูกเดือยขัดขาวสำหรับการส่งออกและบริโภคในประเทศ ยังพบว่ากระบวนการสีเดือยทำให้เกิดผลพลอยได้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ คือ รำเดือย และปลายเดือย ซึ่งหากมองในแง่ของนักโภชนศาสตร์สัตว์ พบว่ารำเดือยและปลายเดือย สามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารพลังงานในการประกอบสูตรอาหารสัตว์ได้ ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์หาปริมาณโภชนะ และทำการศึกษากับสัตว์ทดลองให้ทราบถึงปริมาณรำเดือย หรือปลายเดือยที่เหมาะสมในสูตรอาหารสัตว์