เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน(ฝ้ายแกมไหม) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มดำเนินงานวิจัยเรื่องการเลี้ยงและการผลิต ไหมอีรี่เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใยธรรมชาติในปี 2550 ได้มีองค์ความรู้กระบวนการเลี้ยงไหมอีรี่ พัฒนาเครื่องมือและวิธีการผลิตเส้นไหมปั่นมือให้ง่าย สามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ไหมอีรี่ที่แปลกใหม่และมีมูลค่าเพิ่ม ดำเนินการขยายการผลิตไหมอีรี่ไปในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี จัดระบบการบริหารจัดการผลิตในรูปแบบ Supply Chain พัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมอีรี่ ให้เป็น Green Product ที่มีคุณภาพสู่ตลาดทางเลือก
การผลิตไหมอีรี่เป็นการผลิตไหมป่าพันธุ์ใหม่สำหรับเมืองไทยมีกระบวนการเลี้ยงและผลิตที่ไม่ยุ่งยากพืชอาหารของไหมอีรี่คือใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังซึ่งสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นและเป็นวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากดักแด้ไหมที่เป็นอาหารโปรตีนสูง รัง/เส้นไหมเป็นที่ต้องการของตลาด กาวไหม(เซรีซีน)ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ที่มีมูลค่าสูงและมูลของตัวหนอนไหมสามารถใช้เป็นปุ๋ยชั้นดี
เส้นด้ายปั่นมือที่เป็นเส้นใยธรรมชาติมีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะเส้น ด้ายที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีพื้นบ้านที่ผลิตด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมปัจจุบันผู้ผลิตสิ่งทอพื้นบ้านจึงต้องการวัตถุดิบเส้นด้ายปั่นมือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด
การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทั้ง 5 เรื่องประกอบด้วย
1) การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การปลูกพืชอาหาร การเลี้ยงและผลิตไหมอีรี่อย่างถูกวิธี” บรรยายเกี่ยวกับ
- ความรู้เบื้องต้นการเลี้ยงไหมอีรี่และพืชอาหารไหมอีรี่(ละหุ่ง มันสำปะหลัง)
- ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไหมอีรี่ การดูแลตัวหนอนในทุกวัย การจัดการโรงเรือน การให้อาหาร การจัดการในระยะผีเสื้อ และการเพาะพันธุ์ไข่
- การสร้างชั้นเลี้ยงที่ถูกสุขลักษณะ
- การปรับปรุงจ่อให้ได้มาตรฐาน
- สร้างตู้เพาะพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ไหมอีรี่
2) การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การต้มฟอกกาวและปั่นเส้นไหมอีรี่”
กระบวนการต้มลอกกาวไหมอีรี่
- สาธิตและอธิบายกระบวนการต้มลอกกาว
- ฝึกปฏิบัติการต้มลอกกาวกระบวนการปั่นเส้นไหมอีรี่โดยเครื่องปั่น MC และเครื่องปั่นด้ายพื้นบ้าน
- แนะนำส่วนประกอบและวิธีการใช้/การบำรุงรักษา MC
- สาธิตการใช้ MC
- ผู้เข้าร่วมอบรมฝึกปฏิบัติปั่นเส้นไหมอีรี่ด้วย MC
- ผู้เข้าอบรมทดลองปั่นเส้นด้ายไหมอีรี่ด้วยเครื่องปั่นด้ายพื้นบ้าน
- เปรียบเทียบประเมินผลเส้นด้ายจากการปั่น 2 วิธี
3) การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การย้อมสีธรรมชาติ”
- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสีย้อมธรรมชาติ
- ความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ในการย้อมสี สารช่วยย้อม กระบวนการย้อม สีธรรมชาติ
- การฝึกต้มฟอกเส้นด้าย การย้อมสีธรรมชาติ
- เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติให้มีคุณภาพ
- การบันทึกข้อมูลการผลิต การจัดทำแคตตาล็อกเส้นด้ายย้อมสีธรรมชาติ
4) การอบรมเชิงปฏิบัติการ “แปรรูปผลิตภัณฑ์จากดักแด้ไหมอีรี่”
- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับดักแด้ไหมอีรี่ ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร
- ความรู้เกี่ยวกับการปรุงอาหารจากดักแด้ไหมอีรี่
- การฝึกปรุงอาหารสดจากดักแด้ไหมอีรี่ เช่น แกง ยำ ทอด
- การฝึกแปรรูปอาหารจากดักแด้ไหมอีรี่ เช่น น้ำพริก การอบกรอบ การแช่น้ำเกลือ
- เทคนิคและการควบคุมคุณภาพการผลิตน้ำพริกตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
- ขั้นตอนและแนวทางการปรับปรุงการผลิตและผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาให้ได้รับ มาตรฐาน มผช. และการคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP (อาหาร)
5) การประชุมเครือข่ายผู้ผลิตไหมอีรี่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการเลี้ยงและผลิตไหมอีรี่
- การอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การฟักไข่และการเลี้ยงไหมอีรี่ในแต่ละช่วงวัย”
- การอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากรังไหมและดักแด้ไหมอีรี่”
- การอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสาธิต “การต้มฟอกกาว การย้อมสี และการปั่นเส้นไหมอีรี่”
- การอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพรังไหม มาตรฐานคุณภาพเส้นไหมอีรี่ปั่นมือ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
- การอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข”
ดูรายงานฉบับสมบูรณ์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่
ศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โทรศัพท์ 053-942476
e-mail :faigaemmai@gmail.com