เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
จากผลการค้นคว้าวิจัยของคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีนวัตกรรมใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องพลิกกลับกอง เกษตรกรจะสามารถผลิตได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีปริมาณมากครั้งละ 10 – 100 ตัน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้มีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 เสร็จภายในเวลาเพียง 60 วัน เรียกว่าวิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” ที่ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่นและน้ำเสีย วัตถุดิบมีเพียงเศษพืชกับมูลสัตว์เพียง 2 อย่างเท่านั้น โดยถ้าเศษพืชเป็นฟางข้าวอัตราส่วนระหว่างฟางข้าวกับมูลสัตว์คือ 4 ต่อ 1 โดยปริมาตร และถ้าเป็นเศษใบไม้ให้ใช้อัตราส่วน 3 ต่อ 1 โดยปริมาตร
ในวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบกองแถวยาวไม่พลิกกลับกองของแม่โจ้ มีขั้นตอนวิธีทำดังนี้
1. นำฟาง 4 เข่ง "วางหนา 10 ซม." บนพื้นดิน ฐานกว้าง 2.5 ม. โรยทับด้วยขี้วัว 1 เข่ง (เพื่อให้เป็นสัดส่วน 4 ต่อ 1 โดยปริมาตร - ถ้าเป็นใบไม้ใช้ 3 ต่อ 1) แล้วรดน้ำ ..... ถ้าต้องการปุ๋ยหมัก 1 ตันก็ทำซ้ำข้างต้นจนมีความยาวกองปุ๋ยให้ได้ 4 เมตร .... อันนี้เป็นชั้นที่ 1
2. ทำชั้นที่ 2 ซ้ำขั้นตอนข้างต้น แล้วรดน้ำ ... ทำชั้นสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ชั้นเศษพืชหนาเพียง 10 ซม. โดยให้กองปุ๋ยเป็นรูปสามเหลี่ยม สูงรวม 1.5 ม. ปกติก็จะมีจำนวน 15 - 20 ชั้น ... การทำเป็นชั้นบาง ๆ ก็เพื่อให้จุลินทรีย์ในมูลสัตว์สามารถออกมาย่อยสลายเศษพืชได้ทั่วถึง ที่สำคัญ ... ห้ามเหยียบ
3. ถ้าต้องการปุ๋ยหมัก 1 ตันก็ให้ต่อกองปุ๋ยจนยาว 4 ม. ... กองปุ๋ยยาว 4 เมตรจะใช้ขี้วัว 30 กระสอบ หรือ 360 กก. ถ้าขี้วัวกระสอบละ 25 บาทก็จะเป็นต้นทุนในการทำปุ๋ย 30 x 25 = 750 บาทต่อตัน .... แต่ถ้าไม่ทำเองแล้วไปซื้อของคนอื่นอาจต้องจ่ายถึง 5,000 - 7,000 บาทต่อตันเชียวครับ
4. ภายในเวลา 2 เดือนให้ดูแลน้ำอย่างปราณีต ได้แก่ รดน้ำวันละครั้ง ในปริมาณที่ไม่ทำให้น้ำไหลนองออกมามากเกินไป ...... แล้วทุก 10 วันก็ให้เอาไม้เจาะกองปุ๋ยถึงพื้นดิน ระยะห่างรู 40 ซม.รอบกอง กรอกน้ำลงไปในปริมาณที่ทำให้ภายในกองปุ๋ยชื้นพอดี ๆ ไม่มีน้ำไหลนองออกมามาก เสร็จแล้วปิดรู ..... สรุป : รดน้ำวันละครั้ง แล้วทุก 10 วันเจาะกองปุ๋ยเติมน้ำ ปิดรู (เจาะรวม 5 ครั้ง)
5. พอครบสองเดือน กองปุ๋ยก็จะยุบเหลือแค่ 1 เมตร กระบวนการก็จะยุติโดยไม่ต้องพลิกกองเลย แล้วทิ้งให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยสงบตัว ไม่เป็นอันตรายต่อพืช แห้งแล้วค่อยเอาไปใช้หรือเก็บใส่กระสอบ เก็บในร่มได้นาน 3-4 ปี
การเจาะกองปุ๋ยเพื่อให้น้ำแก่ภายในกองปุ๋ยเป็นสิ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่ละเลย ส่งผลให้เศษพืชไม่ถูกย่อยสลายเพราะแห้งเกินไป แถมคิดว่าการรดน้ำประจำวันจะทำให้มีน้ำไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ วัสดุเช่นนี้จะชอบยึดน้ำไว้ที่ตัวมันเองและจะไม่ยอมให้น้ำไหลซึมลงด้านล่างตามแรงโน้มถ่วง (คล้ายกับกองฟางที่ตากฝนในนา ซึ่งภายในจะแห้งสนิท จะไม่เคยเป็นปุ๋ยเลยไม่ว่าจะทิ้งไว้กี่ปี) ทางวิชาการเรียกว่ามีคุณสมบัติของ Field Capacity ครับ สามารถไปสืบค้นเพิ่มเติมจากกูเกิ้ลได้
การดูแลน้ำอย่างปราณีตแลกกับการต้องพลิกกลับกอง ผมคิดว่าคุ้มครับผม
จะทำยาว 4 ม.หรือ 400 ม. ก็เสร็จในสองเดือนเหมือนกัน เอาไปทำปุ๋ยขายก็ได้ เป็นโรงปุ๋ยที่ไม่ต้องมีพื้นหรือหลังคา
ข้อห้ามของการทำปุ๋ยวิธีนี้คือห้ามขึ้นเหยียบ ห้ามเอาผ้าคลุม เพราะจะทำให้อากาศไหลเวียนเข้าไปในกองปุ๋ยไม่ได้ ... ห้ามทำชั้นเศษพืชหนาเกินไปเพราะจุลินทรีย์จะเข้าไปย่อยสลายไม่ได้
กองปุ๋ยวิธีนี้จะมีความร้อนจัดใน 5 วันแรก ชนิดที่ว่ามีไอร้อนลอยอ้อยอิ่งออกมาเลยเชียว ไอร้อนนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นว่ามีอากาศร้อนลอยออกจากกองปุ๋ย ซึ่งส่งผลให้อากาศเย็นกว่าที่อยู่ด้านนอกไหลเวียนเข้าไปแทนที่ จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยจึงได้รับออกซิเจนไว้ใช้ในกิจกรรมการย่อยสลายโดยที่เราไม่ต้องพลิกกลับกองเลย
การทำปุ๋ยวิธีนี้ใครมีสารเร่ง พด.1 จะใช้ร่วมก็ได้ ไม่ผิดกติกาครับ
----------------------------------------------------------------------------------
คำถามที่พบบ่อย ในการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง "วิศวกรรมแม่โจ้ 1"
คำถาม .... ถ้าไม่สามารถทำกองปุ๋ยวิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 เสร็จในวันเดียว จะทำค้างไว้ก่อน แล้วค่อยมาทำต่อจนเสร็จในอีก 2 - 3 วัน ได้หรือไม่
คำตอบ .... ทำได้ครับ เมื่อพร้อมเรื่องเวลาหรือวัสดุแล้วก็ค่อยมาทำต่อให้เป็นกองรูปสามเหลี่ยมสูง 1.5 เมตรก็ได้ แล้วค่อยนับเป็นวันที่ 1 เมื่อได้กองปุ๋ยเป็นรูปสามเหลี่ยมแล้ว แต่จำนวนชั้นอาจเพิ่มเป็น 20 - 25 ชั้นก็ได้เพราะกองปุ๋ยจะยุบตัวลงทุกวัน
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... จะทำกองปุ๋ยเป็นรูปสี่เหลี่ยมได้หรือไม่
คำตอบ .... ไม่ได้ เพราะการทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมนั้น เมื่ออากาศร้อนในกองปุ๋ยลอยออกจากกองปุ๋ยขึ้นไป อากาศเย็นจะไหลเข้าไปแทนที่ตามหลักการของการพาความร้อน แต่อากาศเย็นอาจจะไม่ไหลเข้าไปข้างในกองปุ๋ย เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการลัดวงจรได้ โดยอากาศเย็นจะไหลไปแทนที่อากาศร้อนเฉพาะบริเวณด้านข้างของกองปุ๋ย ส่งผลให้ไม่มีอากาศสำหรับจุลินทรีย์บริเวณกลางกองปุ๋ยใช้ในการย่อยสลาย เมื่อไม่มีอากาศการย่อยสลายจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไม่ใช้อากาศที่ส่งกลิ่นเหม็น วัสดุจะมีความเป็นกรด มีน้ำเสียออกมา และกระบวนการใช้เวลานานกว่า ... การทำกองเป็นรูปสามเหลี่ยมจะบังคับให้ทุกส่วนของกองปุ๋ยได้รับอากาศที่ไหลเวียนเข้าไป กระบวนการย่อยสลายจึงเป็นแบบใช้อากาศที่ไม่มีกลิ่น วัสดุมีความเป็นกรดด่างที่เป็นกลาง และใช้เวลาย่อยสลายสั้นกว่า
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... จะใช้ไม้ไผ่หรือท่อพีวีซีเจาะรูหลายท่อนเสียบเข้าไปในกองปุ๋ยทิ้งไว้ เพื่อให้อากาศไหลเข้าไปได้หรือไม่
คำตอบ .... ไม่ได้ เพราะการเสียบท่อแบบนั้นจะทำให้อากาศร้อนในกองปุ๋ยหนีหายไป ทำให้กองปุ๋ยเย็นลง กลายเป็นสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการย่อยสลายของจุลินทรีย์ (จุลินทรีย์จากมูลสัตว์ชอบความร้อนจัด) และทำให้ไม่เกิดการพาความร้อนอีกด้วย ส่งผลให้ไม่มีการไหลเวียนของอากาศในกองปุ๋ย การย่อยสลายจะเกิดได้ไม่สมบูรณ์
คำถาม .... มีคอกหรือซองโรงปุ๋ยเดิมที่เป็นผนังซีเมนต์บล็อกอยู่แล้ว จะทำกองปุ๋ยแบบวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ให้เต็มภายในคอกซีเมนต์บล็อกได้หรือไม่
คำตอบ .... ไม่ได้ เพราะหากทำกองปุ๋ยเต็มคอกซีเมนต์บล็อก ผนังซีเมนต์บล็อกจะขัดขวางไม่ให้มีการไหลเข้าไปในกองปุ๋ยของอากาศทางด้านข้าง วิธีแก้ไขจึงควรทำกองปุ๋ยรูปสามเหลี่ยมในคอกซีเมนต์บล็อกจะถูกต้องกว่า
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ทำไมการทำปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้ไม่ต้องเติมกากน้ำตาล ปุ๋ยยูเรีย รำข้าว แกลบ สารเร่งจุลินทรีย์ อีเอ็ม หรือน้ำหมักชีวภาพ
คำตอบ .... สาเหตุที่การทำปุ๋ยอินทรีย์วิธีอื่นต้องเติมกากน้ำตาลหรือปุ๋ยยูเรีย ก็เพื่อให้มีไนโตรเจนสำหรับให้จุลินทรีย์ใช้ในการสร้างเซลล์และเจริญเติบโต การทำปุ๋ยอินทรีย์วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ใช้ไนโตรเจนที่มีในมูลสัตว์อยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องเติมกากน้ำตาลหรือปุ๋ยยูเรียอีก .... ส่วนการทำปุ๋ยอินทรีย์บางวิธีต้องเติมรำข้าวหรือแกลบก็เพื่อให้มีคาร์บอนสำหรับให้จุลินทรีย์ใช้ในการสร้างเซลล์และเจริญเติบโต แต่ในเศษพืชก็มีคาร์บอนอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องใช้รำข้าวหรือแกลบแต่อย่างใด .... นอกจากนั้น ในมูลสัตว์ก็อุดมไปด้วยจุลินทรีย์หลากหลายชนิดอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องเติมสารเร่งจุลินทรีย์หรืออีเอ็ม .... ส่วนการเติมน้ำหมักชีวภาพก็ไม่มีความจำเป็นเพราะการเติมน้ำหมักชีวภาพมีแต่จะทำให้กองปุ๋ยมีกลิ่นเหม็นและไม่มีประโยชน์ต่อกระบวนการย่อยสลาย เพราะจุลินทรีย์ในน้ำหมักชีวภาพเป็นกลุ่มไม่ใช้ออกซิเจน แต่ในกองปุ๋ยเป็นกลุ่มใช้ออกซิเจน
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ในชุมชนไม่มีเศษพืชหรือมูลสัตว์จะทำอย่างไรดี
คำตอบ .... การผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ช่วยให้สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ปริมาณครั้งละมาก ๆ เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงบำรุงดินหรือการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ได้วัตถุดิบจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ควรขนเศษพืชจากชุมชนอื่นที่อาจมีค่าขนส่งบ้าง หรือสั่งซื้อมูลสัตว์จากชุมชนอื่นหรือจังหวัดอื่น หรือรับแลกเศษใบไม้หรือฟางกับไข่ หรือปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ถ้าไม่มีเวลารดน้ำประจำวันหรือแทงกองปุ๋ยทุก 10 วัน จะใช้วิธีติดสปริงเกลอร์และใช้ท่อน้ำเจาะรูติดตั้งไว้ตรงกลางกองปุ๋ยแล้วเปิดวาวล์เป็นครั้งคราวได้หรือไม่
คำตอบ .... การติดตั้งสปริงเกลอร์เพื่อลดปัญหาการรดน้ำกองปุ๋ยประจำวันสามารถทำได้ แต่ต้องระวังอย่ารดนานเพราะจะทำให้มีน้ำนองในบริเวณและมีน้ำมูลสัตว์ที่เป็นไนโตรเจนไหลออกมา แต่อย่างไรก็ตาม น้ำมูลสัตว์นี้ยังสามารถนำไปเป็นประโยชน์ใช้รดต้นไม้ได้เพราะมีคุณค่าเหมือนกับน้ำยูเรียที่ไม่มีความเป็นกรด ส่วนการใช้ท่อน้ำเจาะรูติดตั้งกลางกองปุ๋ยทำไม่ได้เพราะน้ำไม่สามารถฉีดผ่านรูไปยังทุกส่วนของกองปุ๋ยได้เพราะปุ๋ยอินทรีย์มีคุณสมบัติชอบอุ้มน้ำ การใช้เหล็กแหลมแทงกองปุ๋ยแล้วเติมน้ำน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุด
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำด้วยวิธีนี้ให้คุณภาพแตกต่างจากการทำด้วยวิธีอื่นอย่างไร
คำตอบ .... ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำด้วยวิธีนี้มีคุณภาพไม่แตกต่างจากวิธีอื่นและผ่านเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของประเทศเหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่วิธีการทำ กล่าวคือ วิธีนี้จูงใจให้เกษตรกรหันมาทำปุ๋ยอินทรีย์ได้มากกว่า จากการที่ไม่ต้องพลิกกลับกอง มีความง่าย ไม่ต้องเติมสารพิเศษอื่น ใช้ระยะเวลาในกระบวนการสั้น สามารถทำในนาหรือในสวนผลไม้ก็ได้ และได้ปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณครั้งละมาก ๆ
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... จะเอาขี้เลื่อยจากการเพาะเห็ดหรือแกลบมาทำปุ๋ยหมักวิธีนี้ได้หรือไม่
คำตอบ .... ไม่ได้ เพราะขี้เลื่อยกับแกลบมีขนาดเล็กเกินไปจนอากาศไม่สามารถไหลเวียนเข้ากองปุ๋ยได้ และขี้เลื่อยกับแกลบก็ยังประกอบไปด้วยลิกนินที่จุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายให้เสร็จในเวลา 2 เดือนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การนำขี้เลื่อยหรือแกลบเข้าในกระบวนการ เช่น ฟาง 4 ส่วน ขี้เลื่อยหรือแกลบ 1 ส่วน ขี้วัว 1 ส่วน ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากขี้เลื่อยหรือแกลบได้ทางหนึ่ง เพราะถึงแม้ขี้เลื่อยหรือแกลบไม่ย่อยสลายดี แต่ดินเพาะปลูกจะมีความร่วนซุยมากขึ้น
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ถ้าไม่ได้รดน้ำเป็นเวลา 10 วัน กองปุ๋ยนั้นจะเสียหายอย่างไรบ้าง
คำตอบ .... เมื่อสามารถกลับมารดน้ำได้ และดูแลความชื้นทั้งการรดประจำวันและการเจาะเติมน้ำทุก 10 วันได้เหมือนเดิม จุลินทรีย์ก็จะสามารถฟื้นตัวและกลับมาทำงานย่อยสลายได้ใหม่ แต่ระยะเวลาการแล้วเสร็จอาจเลื่อนออกไปบ้าง
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ปริมาณการใช้ปุ๋ยหมักในการเพาะปลูกเป็นอย่างไร
คำตอบ .... กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้ปุ๋ยหมักไร่ละ 300 - 3,000 กก. ขึ้นอยู่กับสภาพดิน .... ที่อยากแนะนำช่วงเวลาที่ใช้ในนาก็คือตอนไถพรวนปรับดิน สำหรับแปลงผักก็คือตอนขึ้นแปลงยกร่อง สำหรับพริกหรือมะเขืออาจใส่ 1 กำมือที่ก้นหลุม ... สำหรับการปลูกต้นไม้ใหม่ ควรขุดหลุมให้กว้างอย่างน้อย 50 x 50 x 50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหนาสัก 2 นิ้ว ดินกลบผสมปุ๋ยหมัก 7 ต่อ 1
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ปุ๋ยหมักจะมีแร่ธาตุสู้ปุ๋ยเคมีได้หรือไม่
คำตอบ .... ในด้าน N P K ปุ๋ยหมักสู้ปุ๋ยเคมีไม่ได้ก็จริง .... แต่ในด้านอินทรีย์วัตถุ โบรอน โมลิบดินัม เหล็ก ทองแดง แมงกานีส สังกะสี คลอรีน แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ ที่มีในปุ๋ยหมักแล้ว ปุ๋ยเคมีสู้ไม่ได้ครับเพราะไม่มีเลย ... ประการหลังเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเกษตรกรปลูกพืชหรือข้าวอินทรีย์จึงได้ผลดีแม้ไม่ต้องง้อปุ๋ยเคมีเลย ... สำหรับพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องการปุ๋ยเคมีอยู่ การใช้ปุ๋ยหมักร่วมด้วยจะช่วยให้ประหยัดปุ๋ยเคมีไปได้มาก เป็นการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก (Compost) ในการเกษตรกรรมอยู่เสมอจะเป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน ช่วยให้ผืนดินกลับคืนมีชีวิต มีระบบนิเวศในดินที่เหมาะสม จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินจะมีสารอาหารทำให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น รากพืชจะได้รับธาตุอาหารจากจุลินทรีย์ดินที่อาศัยแบบพึ่งพากัน จุลินทรีย์ดินเมื่อเพิ่มมากขึ้นก็จะไปแย่งอาหารจากเชื้อโรค เป็นการแก้ปัญหาโรคทางดินแบบชีววิถี .... ในปุ๋ยหมักมีธาตุอาหารต่าง ๆ ซึ่งเดิมมีอยู่ในซากพืชอยู่แล้ว เป็นการหมุนเวียนกลับคืนธาตุอาหารลงดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อพืช .... ปุ๋ยอินทรีย์ยังช่วยลดความเป็นกรดของดินจากการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างยาวนาน ทำให้เชื้อราหรือโรครากเน่าในดินลดลง และดินที่กลับเป็นกลางจะปลดปล่อยปุ๋ยเคมีที่เคยถูกตรึงเอาไว้ในดิน คายกลับออกมาให้พืชได้ใช้ .... อินทรีย์วัตถุในดินมีคุณสมบัติชอบดูดซับแร่ธาตุและความชื้น การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์จึงมีประสิทธิภาพ เกษตรกรจึงสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้มากครับ
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ควรเจาะรูกองปุ๋ยเพื่อระบายความร้อนหรือไม่
คำตอบ .... ไม่ควร เพราะอุณหภูมิที่สูงในกองปุ๋ยจะช่วยให้จุลินทรีย์กลุ่มเทอร์โมฟิลิก (Thermophiles) ที่ชอบความร้อนสูงจะย่อยสลายเศษพืชได้เร็ว ในขณะที่จุลินทรีย์กลุ่มอื่นที่ไม่ชอบความร้อนสูงจะสร้างสปอร์ และรอจนกว่าอุณหภูมิมีความเหมาะสม แล้วจึงออกมาสับเปลี่ยนกันย่อยสลายเศษพืชต่อไป ... นอกจากนี้ เมื่อความร้อนลอยตัวสูงขึ้น อากาศภายนอกที่เย็นกว่าก็จะไหลเข้ากองปุ๋ยทางด้านข้าง เท่ากับเป็นการเติมอากาศให้แก่กองปุ๋ยตามธรรมชาติอยู่เสมอ จุลินทรีย์ก็จะสามารถขยายเซลล์และเพิ่มจำนวนได้มาก ทำให้การย่อยสลายเศษพืชให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์เสร็จได้เร็วโดยไม่ต้องพลิกกลับกองปุ๋ย
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ควรใช้ผ้ายางคลุมกองปุ๋ยเพื่อให้เก็บความร้อนหรือไม่
คำตอบ .... ไม่ควร เพราะผ้ายางจะขัดขวางการระบายอากาศระหว่างกองปุ๋ยกับอากาศภายนอก ทำให้จุลินทรีย์ขาดออกซิเจนในกระบวนการย่อยสลาย การเป็นปุ๋ยหมักจะช้าลงและทำให้ปุ๋ยหมักมีความเป็นกรดและมีกลิ่นเหม็นจากการเปลี่ยนเป็นกระบวนการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ควรขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่นหรือไม่
คำตอบ .... ไม่ควร เพราะกองปุ๋ยที่แน่นเกินไปจะมีการระบายอากาศที่ไม่ดี มีผลให้จุลินทรีย์ชนิดใช้ออกซิเจนหยุดการทำงาน และจุลินทรีย์ชนิดไม่ใช้ออกซิเจนจะพัฒนาขึ้นมาทำงานแทน ซึ่งจะมีการย่อยสลายที่ช้าและเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นเหม็น
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ใช้วิธีฉีดฝอยน้ำที่ด้านบนของกองปุ๋ยอย่างเดียวด้วยสปริงเกลอร์เพื่อรักษาความชื้น จะเพียงพอหรือไม่
คำตอบ .... ไม่เพียงพอ เพราะเนื้อปุ๋ยมีธรรมชาติที่จะอุ้มน้ำและจะไม่ยอมปล่อยให้น้ำซึมลงด้านล่าง การฉีดฝอยที่ด้านบนอย่างเดียวอาจจะทำให้บริเวณกลางกองปุ๋ยยังคงแห้งอยู่ การย่อยสลายของจุลินทรีย์จะยุติลง .... ดังนั้น วิธีการรักษาความชื้นที่ถูกต้องนอกจากจะฉีดฝอยน้ำที่ด้านบนของกองปุ๋ยทุกเช้าแล้ว ควรใช้เหล็กเจาะกองปุ๋ยเป็นรู แล้วกรอกน้ำลงไปในปริมาณที่พอดีทุก 10 วัน (ถึงแม้จะอยู่ในช่วงของฤดูฝนก็ตาม) และเมื่อเติมน้ำเสร็จก็ปิดรูเติมน้ำเสีย เพื่อไม่ให้กองปุ๋ยสูญเสียความร้อน
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... จะเก็บรักษาเศษพืชไว้ใต้ถุนบ้าน หรือใกล้กับยุ้งข้าว ได้หรือไม่
คำตอบ .... ไม่ควร เพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ได้ .... แต่สำหรับกองปุ๋ยจะไม่ติดไฟ เพราะมีความชื้นในกองปุ๋ย
คำถาม .... จะวางเศษพืชเป็นชั้นหนาสัก 50 เซนติเมตรได้หรือไม่
คำตอบ .... ไม่ได้ เพราะการวางเศษพืชเป็นชั้นหนาเกินไปจะทำให้จุลินทรีย์ที่มีในมูลสัตว์ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายเศษพืชได้สมบูรณ์ .... ดังนั้น การทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองจึงกำหนดให้เศษพืชมีความหนาเพียง 10 ซม.เท่านั้น
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ทำกองปุ๋ยใต้ต้นไม้ได้หรือไม่
คำตอบ .... ไม่ได้ เพราะความร้อนของกองปุ๋ยรวมทั้งธาตุอาหารที่อาจไหลซึมลงมาอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ จึงควรทำกองปุ๋ยบริเวณนอกทรงพุ่มของต้นไม้
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ทำกองปุ๋ยใต้อาคารได้หรือไม่ หรือทำบนพื้นคอนกรีตได้หรือไม่
คำตอบ .... ทำได้ ถ้ามีอาคารอยู่แล้ว แต่ปกติทำกองปุ๋ยบนดิน ในนา ในสวน ตากแดดตากฝนก็ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องมีโรงปุ๋ยราคาแพง
----------------------------------------------------------------------------------
คำถาม .... ใช้จุลินทรีย์จากจาวปลวกหรือขุยไผ่ได้หรือไม่
คำตอบ .... ได้ แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าจะเอาอะไรมาเป็นแหล่งของไนโตรเจน ... และ ... ถ้าจะทำกองปุ๋ยยาว 20 เมตร เพื่อให้ได้ปุ๋ยหมักรวม 5 ตัน สำหรับใส่นาสัก 15 ไร่ เราจะไปหาจุลินทรีย์จาวปลวกหรือขุยไผ่ปริมาณมากอย่างนั้นได้อย่างไร .... อย่างไรก็ตาม สูตรการทำปุ๋ยหมักของกรมพัฒนาที่ดินที่แจกสารเร่งจุลินทรีย์ พด.1 ก็ยังต้องใช้ขี้วัวเลยครับ
----------------------------------------------------------------------------------
ตอนนี้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปที่ภาคอีสานโดยทาง คลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี(นายอรุณศักดิ์ ไชยอุบล) ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปส่งเสริม เผยแพร่ในพื้นที่ จังหวัดอุดรธานี ภายใต้โครงการ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากแบบไม่พลิกกลับกอง [ID Project = 4427]
ท่านใดสนใจติดต่อไปได้ที่ คลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี โทร 042-211040 ต่อ 203