ครม.สัญจร เลือกประเด็นอย่างไรให้เป็นข่าว  41

คำสำคัญ : ครม.สัญจร  เลือกประเด็น  ข่าว  

ครม.สัญจร เลือกประเด็นอย่างไรให้เป็นข่าว

 

จากบล็อกก่อนหน้านี้ ได้กล่าวไปแล้วว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีคืออะไร และประชาชนจะได้อะไรจากการประชุมคณะรัฐมนตรี บล็อกนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการประชุม ครม.สัญจร โดยขอเน้นเรื่องการเลือกประเด็นที่มีศักยภาพและน่าสนใจ (ในมุมมองของนักข่าว) ซึ่งก่อนอื่นเราต้องเข้าทำความเข้าใจก่อนว่า การประชุม ครม.สัญจร คืออะไร

 

การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ เรียกโดยทั่วไปว่า “ครม. สัญจร” เป็นการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีในสถานที่ต่าง ๆ นอกเหนือจากการประชุมคณะรัฐมนตรีปกติที่ทําเนียบรัฐบาลซึ่งคณะรัฐมนตรีจะพิจารณากําหนดวัน สถานที่และจังหวัดที่จะจัดประชุมตามความจําเป็น และเหมาะสมเป็นคราว ๆ ไป การประชุม ครม. สัญจร จะทําให้รัฐบาลได้รับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชน ในพื้นที่ได้อย่างดี โดยเฉพาะการกําหนดให้รัฐมนตรีลงพื้นที่ในแต่ละอําเภอในจังหวัดที่เป็นสถานที่จัดประชุม เป็นการให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจปัญหาสําคัญของชาติได้สัมผัสกับประชาชนและต้นตอของปัญหาระดับรากหญ้าด้วยตนเอง การประชุม ครม. สัญจร เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและความตั้งใจของรัฐบาลที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอปัญหาและจัดสรรทรัพยากรของชาติเพื่อท้องถิ่นของตนเอง การประชุมแต่ละครั้งคณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาจังหวัดตามความต้องการของจังหวัดนั้นทุกครั้ง ซึ่งการอนุมัติแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ ที่ว่านี้ย่อมมีงบประมาณที่ต้องจัดสรรพ่วงไปด้วย โดยเป็นการจัดสรรภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลและจังหวัดได้ร่วมกันกําหนดไว้ตั้งแต่ต้น

 

โดยทั่วไปการประชุม ครม.สัญจร จะกำหนดไว้ 2 วัน โดยวันแรกจะเป็นวันที่ใหรัฐมนตรีลงพื้นที่ในแต่ละอําเภอในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่เป็นสถานที่จัดประชุม และวันต่อมาจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ซึ่งภารกิจแต่ละครั้ง กปว. จะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจัดกำหนดการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. โดยประสานงานร่วมกับ กยผ. หน่วยงานในสังกัด อว. สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดกำหนดการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีมีปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาหลายประการ ดังนี้

1.     การคัดเลือกผลงานเพื่อลงพื้นที่ควรคำนึงถึงปัจจัย ดังนี้

1.1   เป็นผลงานที่มีความโดดเด่นหรือประสบความสำเร็จแน่นอนว่าการเลือกผลงานควรพิจารณาผลงานเลือกผลงานที่มีเรื่องราวหรือข้อมูลที่น่าสนใจ มีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่มีใครทำมาก่อน หรือสามารถนำเสนอแง่มุมที่ไม่เหมือนใครได้ และควรเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เป็นที่สนใจของสาธารณชน เช่น นโยบายใหม่ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น การแก้ปัญหาสังคมหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นต้น

1.2   เป็นประเด็นที่ทันสมัยหรือสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยพิจารณาสถานการณ์สังคม เศรษฐกิจ หรือการเมืองในขณะนั้น เพื่อเลือกประเด็นที่สอดคล้องมีความสำคัญ และสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจได้ โดยสามารถเชื่อมโยงผลงานกับเหตุการณ์ในข่าวที่กำลังเกิดขึ้นหรือแนวโน้มที่กำลังมาแรงหรือกำลังเป็นกระแสได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ หรือกรณีที่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นไปอย่างยั่งยืน

1.3   มีความสำคัญต่อประชาชนหรือมีผลกระทบในวงกว้างควรพิจารณาเลือกประเด็นที่มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประจำวันหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งผลกระทบต่อสังคมหรือชุมชน ทั้งในเชิงนโยบาย เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรเป็นผลงานที่มีผู้ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวนมากซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนให้ความสนใจมากกว่าโครงการที่มีผู้ได้รับประโยชน์เพียงรายเดียวหรือในวงจำกัด

1.4   มีประเด็นที่สามารถต่อยอดให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาพื้นที่ควรพิจารณาเลือกโครงการที่มีความสำคัญของกระทรวงและมีศักยภาพสูงในการต่อยอดเพื่อให้เกิดการขยายผล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยต้องสอดคล้องกับนโยบาย เป้าหมายหรือแผนการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลและจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดได้ร่วมกันกําหนดไว้

2.     ประเด็นที่อาจเป็นข้อสั่งการของรัฐมนตรี       ในประเด็นนี้เนื่องจากการกําหนดให้รัฐมนตรีลงพื้นที่ในการประชุมแต่ละครั้ง จะมีวัตถุประสงค์ให้รัฐมนตรีได้สัมผัสกับประชาชนและต้นตอของปัญหาระดับรากหญ้าด้วยตนเอง โดยในการประชุม ครม.สัญจร สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะมีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวมข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจากการลงพื้นที่ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติอนุมัติแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาจังหวัดตามความต้องการของพื้นที่นั้นทุกครั้ง จึงเป็นโอกาสและช่องทางหนึ่งในการผลักดันโครงการสำคัญของกระทรวงเพื่อให้ผ่านการพิจารณาอนุมัติ(ในหลักการ)จากคณะรัฐมนตรี ดังนั้น การคัดเลือกผลงานที่มีศักยภาพสูงเพื่อลงพื้นที่จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรัฐมนตรีอาจจะมีข้อสั่งการในประเด็นสำคัญที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์และขยายผลไปสู่ประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผล ซึ่งการสั่งการนั้นย่อมได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนด้วย

3.     วิธีการนำเสนอควรมีการนำเสนอที่น่าสนใจ ชัดเจน กระชับ เข้าใจง่าย โดยควรจัดเตรียมข้อมูลที่นำเสนออย่างรอบด้านและครบถ้วนในทุกมิติ รวมถึง ควรพิจารณาออกแบบวิธีการนำเสนอที่เข้าใจได้ง่าย เปิดโอกาสให้สัมผัสประสบการณ์จริง หรือมีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้รัฐมนตรีสามารถใช้เวลาในการลงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากการสื่อสารข้อมูลไปสู่สื่อมวลชนอาจทำโดยการส่งข้อมูลผ่านการสร้างข่าวประชาสัมพันธ์ (press release) หรือการสร้างโอกาสให้มีการพบปะกันโดยตรงกับนักข่าวก็ได้ เช่น การเชิญสื่อมวลชนร่วมลงพื้นที่ ดังนั้น หากมีสื่อมวลชนร่วมลงพื้นที่ การนำเสนอที่ดีจะทำให้สื่อมวลชนสามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็วและสามารถสื่อสารไปสู่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ควรจัดเตรียมข้อมูล รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบเอกสารและไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ไว้สำหรับสื่อมวลชน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน สร้างความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดของโครงการ และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน

4.     ความเป็นไปได้ในการเดินทางลงพื้นที่เนื่องจากเป็นการเดินทางในพื้นที่ที่จัดประชุม ครม.สัญจร โดยต้องพิจารณาจากเส้นทางและระยะทางระหว่างสถานที่แต่ละแห่ง ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละสถานที่ บทบาทของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อให้สามารถจัดกำหนดการได้อย่างเหมาะสม

ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดทำกำหนดการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีในการประชุม ครม.สัญจร ทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงพื้นที่ ครม.สัญจร ยังมีประเด็นที่ต้องตอบโจทย์ในทางปฏิบัติซึ่งต้องนำมาพิจารณาประกอบอีกมาก ผู้ปฏิบัติจึงต้องอาศัยประสบการณ์ connection และการคิดเชิงกลยุทธ์ รวมถึง ความรู้ความเข้าใจในวิธีการ กระบวนการ และลักษณะการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสื่อมวลชนด้วย เพื่อให้การลงพื้นที่บรรลุวัตถุประสงค์สูงสุด ทั้งนี้ หากมีโอกาสจะได้มาแชร์ต่อไป


เขียนโดย : นางสาวทิพวัลย์  เวชชการัณย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : tipawan@mhesi.go.th