อุทยานวิทยาศาสตร์ เกี่ยวอะไรกับ การถ่ายทอดเทคโนโลยี  56

คำสำคัญ : อุทยานวิทยาศาสตร์  การถ่ายทอดเทคโนโลยี  ระบบนิเวศนวัตกรรม  ทรัพย์สินทางปัญญา  

อุทยานวิทยาศาสตร์ เกี่ยวอะไรกับ การถ่ายทอดเทคโนโลยี

การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนวัตกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นองค์กรด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีประเภทหนึ่ง น้องๆเคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ เกี่ยวข้องอะไรกับการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี แล้วทำไมอุทยานวิทยาศาสตร์จึงต้องมาอยู่ใน กปว.

World intellectual property organization (WIPO) องค์กรระดับโลกที่เป็นผู้นำในการพัฒนาระบบนิเวศด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้เกิดความสมดุลและมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ดีและยั่งยืน ได้ให้คำนิยามของการถ่ายทอดเทคโนโลยี  (Technology Transfer) ว่าเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันที่เอื้อให้ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ความรู้และทรัพย์สินทางปัญญา เคลื่อนย้ายจากผู้สร้าง เช่น มหาวิทยาลัยและสถาบันการวิจัย ไปยังผู้ใช้ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายในการแปลงสิ่งประดิษฐ์คิดค้นและผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม สิ่งสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยีคือการสื่อสารระหว่างผู้ถ่ายทอด (Transferor) และผู้รับการถ่ายทอด (Transferee) จึงต้องมีการเชื่อมโยงระหว่าง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานวิจัยผู้สร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการผู้ใช้ ภาคการศึกษาผู้มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตเพื่อการพาณิชย์ การทำหน้าที่ประสานงานเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้เทคโนโลยีและผู้ผลิตเทคโนโลยีระหว่างนักวิจัยและนักผลิตจึงถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังทรัพยากรทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง

ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation ecosystem) หมายถึง ระบบหรือสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่มีคุณค่า สร้างโอกาสทางธุรกิจโดยใช้นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี และขับเคลื่อนกิจกรรมนวัตกรรมในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ ระบบนี้มักประกอบด้วยหลายองค์กร สถาบัน ภาคธุรกิจ และรัฐบาลที่ทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและการสร้างความสามารถในการแข่งขันในสาขาต่างๆ การสนับสนุนการนวัตกรรมมักมีการจัดทำนโยบาย การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา การสร้างพื้นที่ทดลองและการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจและชุมชนท้องถิ่น

        การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนวัตกรรม ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษาหรือสถาบันการวิจัย และปัจจัยเอื้อต่างๆ (เช่น ทุนมนุษย์ โครงสร้างการถ่ายทอดเทคโนโลยี และความซับซ้อนของธุรกิจและตลาด) โดยทุกฝ่ายจะนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของตนมาร่วมกันเพื่อให้บรรลุผลเป็นนวัตกรรมที่พร้อมใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและภูมิภาค ดังนั้น เพื่อให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยและสถาบันการวิจัยจำเป็นต้องดำเนินงานในระบบนิเวศนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ โดยมีองค์กรด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานทางวิชาการหรือเชิงพาณิชย์ที่อำนวยความสะดวกในการจัดการสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำหน้าที่เชื่อมช่องว่างระหว่างการวิจัยและการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ องค์กรเหล่านี้สนับสนุนการทำงานร่วมกันและเป็นสื่อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น สถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม โดย WIPO ได้ระบุว่าองค์กรด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีมีหลายประเภท ตัวอย่างเช่น

(1)     สำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer Offices: TTOs)

สำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยีมักจะตั้งขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยและการถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอำนาจหน้าที่ของสำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยีรวมถึงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน ทั้งในรูปแบบประสานความร่วมมือและแบบมีพันธสัญญาร่วมกันด้วย ชื่อของสำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยีในแต่ละองค์กรอาจแตกต่างกัน เช่น  หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Technology Licensing Office: TLO) สำนักงานการจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Office) สำนักงานสัญญาการวิจัยและบริการทรัพย์สินทางปัญญา (Research Contracts and IP Services Office) หน่วยประสานการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer Interface) สำนักงานประสานความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม (Industry Liaisons Office), สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี (IP and Technology Management Office) และศูนย์กลางนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Nucleus of Technological Innovation) เป็นต้น

(2)     ศูนย์สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation Support Centers: TISCs)

ศูนย์สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยให้นวัตกรเข้าถึงข้อมูลสิทธิบัตร เอกสารข้อมูลทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์ เครื่องมือในการค้นหาและฐานข้อมูล รวมถึง การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์เทคโนโลยีและการนำไปใช้เชิงพาณิชย์

(3)     อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Parks)

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นขอบเขตพื้นที่ที่โดยปกติมักจะเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการวิจัย ซึ่งรองรับและส่งเสริมการเติบโตของบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นั้นผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบเปิด ชื่อของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจแตกต่างกัน เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Park) อุทยานวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์ (Science Park) อุทยานเทคโนโลยี (Technology Park) อุทยานนวัตกรรม (Innovation Park) เป็นต้น

(4)     ศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยี (Technology Incubators)

ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีคือองค์กรที่ช่วยให้บริษัทสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการแต่ละรายพัฒนาธุรกิจของตนโดยการให้บริการที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึง การฝึกอบรม การเจรจาข้อตกลง และการจัดหาเงินทุนสำหรับธุรกิจ

(5)     ตลาดทรัพย์สินทางปัญญา (IP Marketplaces)

ตลาดทรัพย์สินทางปัญญาอาจเป็นแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้นวัตกรสามารถเชื่อมต่อกับพันธมิตรและ/หรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้


เขียนโดย : นางสาวทิพวัลย์  เวชชการัณย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : tipawan@mhesi.go.th