“IGNITE THAILAND” : จุดพลัง รวมใจ ไทยเป็นที่หนึ่ง  158

คำสำคัญ : IGNITETHAILAND  วิสัยทัศน์ประเทศไทย  

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” : จุดพลัง รวมใจ ไทยเป็นที่หนึ่ง

ถึงเวลาที่จะนำศักยภาพประเทศไทย ก้าวไปเป็นที่หนึ่งของภูมิภาค โดยมุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน 8 ด้าน ดังนี้

วิสัยทัศน์ที่ 1 ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub)
- เฟ้นหา Soft Power ชูจุดขายเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย ให้โดดเด่นในสายตาประชาคมโลก ทั้งในด้านศิลปะวัฒนธรรม งานเทศกาล คอนเสิร์ต งานภาพยนตร์ อาหาร วัฒนธรรม กีฬา และศิลปะป้องกันตัว
- ผลักดันบางจังหวัดให้เป็นมรดกโลก เช่น จังหวัดน่าน
- เปิดอิสรภาพการเดินทางระดับภูมิภาค ผ่านฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวหลายประเทศ เช่น จีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน
- สนับสนุนการท่องเที่ยวในไทยทุกจังหวัด ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง
- แก้ไขระเบียบที่เป็นอุปสรรคการท่องเที่ยว เช่น เวลาเปิดปิดสถานบริการ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแก้ไขภาษีจัดงานต่าง ๆ

วิสัยทัศน์ที่ 2 ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub)
- ผลักดันอุตสาหกรรมสาธารณสุข ให้เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรของโลก
- เดินหน้าพัฒนาระบบประกันสุขภาพของคนไทย จาก 30 บาทรักษาทุกโรค ยกระดับเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งในส่วนนี้ จะทำให้คนไทยเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นทั้งในโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน และใช้ AI เชื่อมฐานข้อมูลทั้ง 77 จังหวัด ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว
- เพิ่มจำนวนหมอ และพยาบาลให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
- ผลักดันการแพทย์แผนไทย นวดแผนไทย สปาแผนไทย สมุนไพร
- สนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทำใบรับรองประกาศนียบัตร และผลักดันให้เปิดศูนย์ Wellness Center ได้ในต่างประเทศ

วิสัยทัศน์ที่ 3 ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)
- ยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋าต้องมีเงิน” ดูแลความมั่นคงทางอาหารของโลก พร้อมเป็นครัวของโลกที่สามารถปรุงอาหารทุกประเภทส่งออกไปยังตลาดโลก
- ยกระดับเกษตรกรรม ส่งเสริมเกษตรกรไทย ให้มีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปีของรัฐบาลนี้
- ขยายแหล่งชลประทานให้ครอบคลุม 40 ล้านไร่ ดูแลปัญหาฝุ่น PM 2.5
- สนับสนุนสินค้าเกษตรทั้งประเทศไปสู่ตลาดโลก ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นปัจจัยทางด้านอาหารของโลก
- พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต การวิจัยพัฒนาอาหารโปรตีนสูงจากพืช ตลอดจนการพัฒนาอาหารที่แปลกใหม่
- สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ไปเปิดร้านอาหารในต่างประเทศมากขึ้น

วิสัยทัศน์ที่ 4 ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub)
- พัฒนาสนามบินให้รองรับการ Transit ของสายการบิน และเตรียมปรับเปลี่ยนเส้นทาง ตารางบินให้เหมาะสม เพื่อเพิ่ม Transit Capacity ให้สูงขึ้น
- ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเรื่องรันเวย์ อาคารผู้โดยการ คลังสินค้า สร้างระบบขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) เพิ่มทรัพยากรบุคคล การตรวจความปลอดภัย เสริมคุณภาพการบริการทุกระดับ เพื่อเตรียมพร้อมจะเป็น Homeland ของสายการบินทั้งไทยและสายการบินนานาชาติ

วิสัยทัศน์ที่ 5 ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub)
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพระบบคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ โดยมีแผนจะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็ก
- ปรับปรุงสนามบินทั้งระบบ ขยายถนน ทั้งถนนหลัก ถนนรอง ขยายทางหลวง Motorway 10 เท่า และทางหลวงแผ่นดิน 4 เลน จาก 20,000 กิโลเมตรให้เป็น 23,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อตั้งแต่ชายแดนภาคเหนือ ไปยังชายแดนไทย-มาเลเซีย
- พัฒนารถไฟรางคู่ เพิ่มระยะทางอีก 2,000 กิโลเมตร ระบบรถไฟฟ้าทั้งกรุงเทพฯ และภูมิภาคจะมีระยะทางเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ครอบคลุมเส้นทางเกือบ 700 กิโลเมตร
- มีรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสู่ 3 สนามบินและจะเชื่อมไปยังชายแดนหนองคาย พร้อมทั้งเชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง สำหรับส่งสินค้าจากอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมอาหาร
- เปิดตัวเป็นศูนย์กลางคมนาคมของอาเซียน เชื่อมจีน ยุโรป และเป็นศูนย์กลางขนส่งผ่าน Land Bridge เชื่อมสองฝั่งมหาสมุทรอันดามันและอ่าวไทย
- เป็นตัวกลางการค้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก
- ปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้งหมด (One Stop Service) ไม่ให้ระบบราชการ ระบบเอกสาร เป็นคอขวดของการขนส่งทั้งคน ทั้งสินค้า เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของประเทศโดยเด็ดขาด
- ส่งเสริมบริษัทชั้นนำระดับโลกมาตั้งฐานการลงทุนในประเทศไทย

วิสัยทัศน์ที่ 6 ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub)
- ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมรถ EV ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย การผลิตชิ้นส่วน ยางรถยนต์ แบตเตอร์รี่ อะไหล่ การประกอบ การบำรุงรักษา ทำให้เกิดเป็น Ecosystem ที่สมบูรณ์ในประเทศ และเตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เครื่องยนต์ Hydrogen เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต

วิสัยทัศน์ที่ 7 ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy Hub)
- ตั้งเป้าดึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Digital for all Technology Innovation AI ให้มาขยายธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยี High Tech ต่าง ๆ เช่น การลงทุนโรงงานผลิต Semiconductor, การตั้งศูนย์ Data Center รองรับ Cloud Computing, การวิจัยและนำ AI มาใช้งานในประเทศไทย, การดึงบริษัท Deep Tech ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยผ่านโมเดล Sandbox
- เตรียมปรับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการตั้งบริษัท การทำงาน การรับ - จ่ายเงินเดือน การถือครองทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย
- สนับสนุนให้บริษัทสามารถประกอบธุรกิจข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้

วิสัยทัศน์ที่ 8 Financial Hub (ศูนย์กลางทางการเงิน)
- เปลี่ยนให้ประเทศไทยเป็น Financial Center of Southeast Asia ขับเคลื่อนโดยระบบการเงินที่แข็งแกร่ง ดึงสถาบันการเงินระดับโลกเข้ามาลงทุน
- สร้างย่านการเงิน Wall Street ของอาเซียนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
- พัฒนา Infrastructure รองรับระบบการเงินแห่งอนาคตขับเคลื่อนด้วย Blockchain ที่ไร้ตัวกลาง
- เตรียมปลดล็อก Digital Asset ต่าง ๆ ให้สามารถแปลงเป็นผลผลิตในโลกแห่งความเป็นจริง
- เชื่อมต่อระหว่างสินทรัพย์ในโลกปัจจุบันให้มาอยู่บนโลกดิจิทัล
- เริ่มพัฒนาระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน Carbon Credit Trading
- รัฐบาลจำเป็นต้องมีหน่วยงาน กฎระเบียบ รองรับการก้าวไปสู่ยุคการเงินสมัยใหม่

โดยหากจะนำวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ในครั้งนี้มาพัฒนาต่อยอด เช่น ในเรื่องของการเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) ที่รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายจะได้แผนการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย การผลิตชิ้นส่วน ยางรถยนต์ แบตเตอร์รี่ อะไหล่ การประกอบ การบำรุงรักษา ทำให้เกิดเป็น Ecosystem ที่สมบูรณ์ในประเทศ และเตรียมพร้อมเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เครื่องยนต์ Hydrogen รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต ผู้เขียนมองว่า หากมองในมุมของ อว. เองแล้ว ถือได้ว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจาก เรามีมหาวิทยาลัย มีบุคลากรทางการศึกษา มีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเป็นทุนตั้งต้นอยู่แล้ว หากเราสามารถผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในงานได้เอง มีผลงานวิจัย เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐาน โรงงานการผลิตที่ดี หรือ ecosystem อื่น ๆ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม จะสามารถผลัดดันให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น คนไทยมีอาชีพ มีรายได้ ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.facebook.com/LiveNBT2HD/videos/827195422786195?locale=th_TH
 


เขียนโดย : น.ส.จิณห์นิภา  พลีทอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : jinnipa.p@mhesi.go.th