Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย 177
“บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย”
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาค SMEs ตลอดจนแผนการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับโครงการที่จะเกิดขึ้น ทั้งในด้านของเศรฐกิจและการสร้างอาชีพในพื้นที่ในมิติต่าง ๆ และเพื่อให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทยในแต่ละพื้นที่สามารถดำเนินการได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและมีความเข้าใจแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สามารถส่งเสริมสนับสนุนแนวทางการพัฒนากำลังคนของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย โดยคำนึงถึงศักยภาพและความแตกต่างของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง (ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา) ได้กล่าวว่า
“เป้าหมายประเทศ คือการอยู่ดีมีสุข อยู่ดีกินดี อยู่ดีมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ซึ่งจะเกิดได้นั้น คือ คนต้องมีงานทำ เป็นงานที่เป็นสัมมาชีพ สร้างรายได้ ผู้ทำมีความสุข ตอบโจทย์ความต้องการสังคม ประเทศชาติและเชื่อมต่อกับต่างประเทศและทั่วโลก ตอบโจทย์ความต้องการของกระแสหรือ Demand-Suply มีเชิงปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนงานของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และต้องมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้” ซึ่งในการขับเคลื่อนให้ประชาชนอยู่ดีกินดีนั้น ต้องมีแผน เราต้องมีบุคลากรที่มีสมรรถนะ ทักษะ ความสามารถทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของกระแส ทั้งในจังหวัด ในประเทศและทั่วโลก ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันระดมความคิดเห็น ดูบทบาทของสภาอุดมศึกษาฯ ว่าจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ในเขตเศรษฐกิจภาคใต้ มีปัญหาความมั่นคง และบุคลากรไม่เพียงพอตอบโจทย์ความต้องการ EEC มีความล่าช้าในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เตรียมที่ดิน สิทธิประโยชน์ แต่ก็มีความก้าวหน้าพอสมควร แต่จุดเด่นก็คือมีการรวมตัวกัน มีผู้ประกอบการมากกว่า 600 บริษัทเข้ามาร่วม เกิดการสร้างบุคลากร ทั้งอาชีวะ เทคนิค วิศวะ นับเป็นเป็นความท้าทายระดับภูมิภาค ทั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่งเดิม และระเบียงเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่กำหนดขึ้นมาใหม่ ภายใต้การบูรณาการงานสภาพัฒน์และกลุ่มจังหวัด จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถานศึกษา ต้องช่วยกันผลักดันให้บุคลากร นิสิต นักศึกษาถูกนำไปใช้ประโยชน์ หลังจากผ่านการศึกษา อบรม เรียนรู้ ถ้าไม่มีการใช้ประโยชน์นับเป็นการสูญเปล่า ซึ่งต้องตอบโจทย์ความต้องการ Demand-Suply กระแสโลกในปัจจุบัน ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี ในส่วนของกรรมมาธิการฯ จะเป็นเพียงผู้ประสานงานให้เกิดการเชื่อมโยง การผลักดัน การรายงานเพื่อเสนอแนะให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาประเด็นที่ยังเป็น Missing Point ที่ยังไม่ครอบคลุม ควรนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข หรือเพิ่มเติม
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบาย การขับเคลื่อนและเป้าหมาย (บรรยายโดย นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล)
สถานการณ์ปัจจุบันในเรื่องของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีปัจจัยภายนอกภายในที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยหลายปัจจัย เช่น การแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ บทบาทของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ รวมไปถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ อย่างโรคโควิด 19 ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ เพื่อจะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ การพัฒนาเชิงพื้นที่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งความได้เปรียบที่เรามี 2 สิ่งก็คือ ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ และผลจากการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยที่ผ่านมา การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC, เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ซึ่งสภาพัฒน์ฯ ต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน สร้างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะดึงดูดการลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้ เชื่อมโยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกลไกการขับเคลื่อน เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) มีอนุกรรมการ 3 ชุด กลั่นกรองในเรื่องเฉพาะ ได้แก่ ด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ, ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการตลาด ประชาสัมพันธ์ ในการประสานระดับนโยบายไปสู่ระดับพื้นที่ จะต้องเป็นไปตามนโยบายของ กพศ. มีการขับเคลื่อนให้สอดรับกับความต้องการของคนในพื้นที่
โดยประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาในระยะต่อไป
- สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค
- เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ
- พัฒนาแรงงานให้เพียงพอและสอดรับกับกิจการเป้าหมายที่ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ
- สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตเศษฐกิจพิเศษชายแดน
- พัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ
- สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
โดยประเด็นที่น่าสนใจในการนำมาพัฒนางาน ผู้เขียนมองถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค ในระยะถัดไป หากเรามีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ ด้วยการจัดเตรียม อบรม พัฒนาและให้องค์ความรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรที่มีสมรรถนะ ทักษะ ความสามารถทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของกระแสสังคม และบริบทในพื้นที่ ให้มีปริมาณที่เพียงพอ ทั้งในส่วนของนิสิต นักศึกษา ภาคเอกชน ชุมชน หรือผู้เกี่ยวข้องก็จะสามารถสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ขาดแคลนบุคลากรและองค์ความรู้ต่าง ๆ
ที่มา : https://www.facebook.com/share/p/4EhJHTaKHWcg92sM/?mibextid=oFDknk