Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
แผนงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research Program) ภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 287
แผนงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research Program)
หลักการและเหตุผล
การวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research) เป็นกลไกที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนของประเทศมีศักยภาพในการทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ ที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาที่เป็นการวิจัยตามปัญหาหรือโจทย์วิจัยของภาคเอกชนยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่การดำเนินงานวิจัยร่วมจะอยู่ในรูปแบบโครงการวิจัย ที่นักวิจัยเป็นผู้ดำเนินการวิจัย และทำการถ่ายทอดผลงานวิจัยนั้นสู่ภาคเอกชนหลังที่ผลวิจัยประสบความสำเร็จ ซึ่งการวิจัยในรูปลักษณะนี้ ไม่ได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในงานวิจัยอย่างแท้จริง ขาดความต่อเนื่องและไม่ได้เพิ่มศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาให้แก่ภาคเอกชนมากนัก
การวิจัยร่วมระหว่างภาคเอกชนและอุทยานวิทยาศาสตร์นี้จะมุ่งเน้นงานวิจัยที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในระดับห้องปฏิบัติการ (lab scale) และพร้อมที่จะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและนักวิจัยในมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ภาคเอกชนจะต้องมีส่วนร่วมในงานวิจัยนั้นทั้งในด้านการร่วมทุนและการดำเนินงานวิจัย โดยคาดหวังว่าผลการวิจัยนั้นนอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแล้ว ยังต้องสามารถส่งเสริมศักยภาพในการทำงานวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนด้วย ทั้งการตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาต่อธุรกิจ การพัฒนาหน่วยงานวิจัยและบุคลากรทางด้านวิจัยของภาคเอกชน รวมถึงเป็นการสร้างฐานลูกค้าของอุทยานวิทยาศาสตร์ในอนาคต
วัตถุประสงค์
1. เพื่อกระตุ้นและชักจูงให้ภาคเอกชนหันมาสนใจทำงานวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ นำไปสู่การต่อยอดการลงทุนวิจัยพัฒนาในภาคเอกชน
2. เพื่อให้เกิดการวิจัยพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นผู้เชื่อมต่อกลาง
3 .เพื่อสร้างโอกาสและดึงดูดภาคเอกชนให้เข้ามาเป็นลูกค้าอุทยานวิทยาศาสตร์ ในอนาคต
4. เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในระบบเศรษฐกิจในระดับสูงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
เป้าหมาย
1. สร้างฐานผู้ใช้บริการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ในอนาคตและเกิดการใช้บริการต่างๆของอุทยาน วิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
2. เกิดการวิจัยพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
3. สร้างฐานเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสามารถเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
หน่วยงานรับผิดชอบ
บทบาทของ กปว.
1. ศึกษาแผนการดำเนินงานโครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research Program) ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางพัฒนาการดำเนินงานและจัดทำแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ
2. เปิดรับข้อเสนอโครงการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
3. การพิจารณาข้อเสนอโครงการ
- การกำหนดแนวทางการพิจารณาข้อเสนอโครงการ
- คณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญ พิจารณาข้อเสนอโครงการ
- คณะกรรมการเสนอแนวทางการสนับสนุนงบประมาณต่อผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวง อว.
4. สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน
5. ประเมินผลการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน Co-Research
บทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
1. การจัดทำแผนเพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน โดยมีการวางแผนขั้นตอนการดำเนินการวิจัย
ให้สำเร็จผลตามระยะเวลาที่กำหนด
2. อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคคัดเลือกข้อเสนอโครงการในเบื้องต้นและส่งข้อเสนอโครงการให้ กปว. พิจารณา
3. กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research Program) และติดตามความก้าวหน้า
4. รายงานผลการดำเนินงานส่งให้ กปว.
1. กระบวนการคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research Program)
โครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research Program) เป็นโครงการที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับทางอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกระบวนการแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนา (R&D) และได้ผลงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากอุทยานวิทยาศาสตร์นั้นมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร องค์ความรู้ และเครื่องมือวิจัยที่สามารถนำมาช่วยในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีให้กับทางภาคเอกชนได้ นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ เทคโนโลยีใหม่ หรือระบบการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิต สู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้อย่างครบวงจร
1.1 ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ Co-Research มีขั้นตอนดังนี้
1.1.1. อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคประชาสัมพันธ์โครงการฯ และเปิดรับข้อเสนอโครงการ
1.1.2. นักวิจัยและภาคเอกชนนำส่งข้อเสนอโครงการตามแบบฟอร์มที่กำหนด ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของแต่ละอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในการพิจารณาข้อเสนอโครงการของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยทำการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของแต่ละอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ตัวอย่างของหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา เช่น
- ความสอดคล้องกับ Flagship และ อุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการ
- ศักยภาพความพร้อมของเอกชน
- ร้อยละของการร่วมลงทุนในโครงการของเอกชน
- ความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคและเชิงธุรกิจ
1.1.3. อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคคัดเลือกข้อเสนอโครงการแล้วจัดทำข้อเสนอโครงการตามรูปแบบที่ กปว. กำหนดและนำส่งข้อเสนอโครงการตามระยะเวลาที่ทาง กปว. เปิดรับ เพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ
1.1.4. สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงการ ประกอบไปด้วย
1.1.4.1 ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่สอดคล้องกับข้อเสนอโครงการที่ทางอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคส่งข้อเสนอโครงการมาให้พิจารณา โดยผู้เชี่ยวชาญที่พิจารณาโครงการจะต้องมีอย่างน้อย 2 คน/โครงการ และผู้เชี่ยวชาญที่พิจารณาแต่ละโครงการจะต้องไม่ได้สังกัดมหาวิทยาลัยและภูมิภาคเดียวกับมหาวิทยาลัยเจ้าของโครงการ โดยผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการในการคัดเลือกข้อเสนอโครงการ
1.1.4.2 คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการ โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุน เสนอต่อสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
1.1.5. สป.วท. พิจารณาสนับสนุนงบประมาณให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
1.2 คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่สามารถขอรับการบริการ
1.2.1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหกรณ์การเกษตร อุตสาหกรรมขนาดกลางหรือขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) หรือ ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ หรือกลุ่มการผลิตต่างๆ ที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นหรือลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51
1.2.2 เป็นองค์กรซึ่งมีความพร้อมทางด้านบุคลากร การเงิน และการจัดการในระดับขั้นพื้นฐานที่จะดำเนินโครงการวิจัย ปรับปรุงหรือพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ให้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยได้
1.2.3 เป็นองค์กรที่ดำเนินกิจการอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้
- อุตสาหกรรมที่มุ่งเน้น (Flagship Project) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือมุ่งเน้นเรื่องข้าว อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมุ่งเน้นเรื่องอุตสาหกรรมไก่ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้มุ่งเน้นเรื่องยางพารา
- อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซอฟท์แวร์ธุรกิจ iOS, Android, Open source, Cloud Computing, Digital Content ต่างๆ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมอาหาร
- อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และวัสดุด้านพลังงาน
- อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ (เครื่องสำอาง) อุตสาหกรรมการออกแบบ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน ฯลฯ
1.2.4 ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมโครงการและรับการสนับสนุนได้ปีละ 1 โครงการ และไม่เกิน 3 ปี ติดต่อกัน
1.3 หลักการสนับสนุนงบประมาณและแนวทางดำเนินงาน
1.3.1. อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคให้งบสนับสนุนให้กับโครงการที่ผ่านการคัดเลือก ไม่เกินร้อยละ 40 ของมูลค่าโครงการทั้งหมด โดยภาคเอกชนร่วมลงทุนวิจัยตั้งแต่ร้อยละ 60 ขึ้นไป ในรูปแบบของ in-kind หรือ in-cash โดยดำเนินการตามระเบียบของแต่ละมหาวิทยาลัย
1.3.2. อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคส่งรายงานความก้าวหน้าและรายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการให้กับ กปว. และทำการบันทึกข้อมูลการดำเนินงานในรูปแบบ Project-based management ในทุกเดือน
1.3.3. อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคดำเนินการประเมินโครงการหลังจากสิ้นสุดการวิจัยตามหลักเกณฑ์ของแต่ละอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเป็นผู้กำหนด
1.3.4. อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคส่งผลการดำเนินงานฉบับสมบูรณ์ให้กับ กปว.
2. การวัดความสำเร็จ (Evaluation)
2.1 ตัวชี้วัดความสำเร็จของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
1). จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ (ราย)
2). จำนวนบริษัทที่นำเทคโนโลยีที่เข้าร่วมโครงการไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์ (ราย)
3). จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการมาใช้บริการ การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา บริการออกแบบนวัตกรรม บริการห้องปฏิบัติการ สำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม และบริการอื่นๆของอุทยานวิทยาศาสตร์ (ราย)
4). มูลค่าธุรกิจที่เกิดจากการทำโครงการแต่ละโครงการ (บาท) – ยอดขายที่คาดว่าเพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดโครงการ หรือต้นทุนที่ลดลงหลังสิ้นสุดโครงการ หรือการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
2.2 เป้าหมายของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ Co-Research เมื่อสำเร็จโครงการ
2.2.1. ผู้ประกอบการในภาคเอกชนเกิดความร่วมมือกับนักวิจัย/อาจารย์สามารถนำผลงานวิจัยบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ทั้งในด้านของ การผลิต กระบวนการแปรสภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า หรือเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นภายในภาคอุตสาหกรรม
2.2.2. ผู้ประกอบการในภาคเอกชนเกิดความตระหนักและเห็นถึงความจำเป็นของการดำเนินงานด้านกิจกรรมการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2.3 เป้าหมายของโครงการ Co-Research เมื่อสำเร็จโครงการ
2.3.1. สร้างฐานผู้ใช้บริการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ในอนาคตและเกิดการใช้บริการอื่นๆของอุทยานฯในอนาคตอย่างต่อเนื่อง
2.3.2. ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา และเกิดการใช้ วทน. เป็นฐานในการธุรกิจ
2.3.3. เพิ่มช่องทางและการเข้าถึงโครงการวิจัยให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น
2.3.4. เกิดความร่วมมืออย่าต่อเนื่องระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน ช่วยให้เกิดการวิจัยพัฒนาร่วมกัน
2.3.5. เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและอุทยานฯ ในการพัฒนาประยุกต์ใช้งานวิจัยเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่านได้จากคู่มือโครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน
https://drive.google.com/file/d/1Kd-vWBVK3kygaLpLE2hEHPXH048cegvi/view?usp=sharing