Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
กลไกการมีส่วนร่วมของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย 182
แนวทางของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในการพัฒนากำลังคนเพื่อให้สามารถเป็นกลไกหลักในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอย่างเป็นรูปธรรม
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภายใต้การกำกับของ สป.อว. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ รวมไปถึงการสร้างความพร้อมของภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนของไทยในตลาดสากล และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีศักยภาพด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิตและธุรกิจของคนในชุมชนเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและเรียนรู้อย่างยั่งยืนของชุมชน โดยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของประเทศ ในการร่วมดำเนินงานกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม และบ่มเพาะวิสาหกิจของสถาบันการศึกษากับภาคการผลิตและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยมีการดำเนินงานผ่านข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม กับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่หลายแห่ง เช่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค กลุ่มบริษัทในพื้นที่ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อใช้องค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
นโยบายของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนาอาชีพของชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในแต่ละพื้นที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ทำหน้าที่เป็นตัวกลางและกลไกในการพัฒนาพื้นที่ภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ และยังเป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่ปฏิบัติภารกิจสนองต่อนโยบายของกระทรวง อว. ในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ งานวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม อันประกอบด้วย 1) การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ รวมหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการผนึกกำลังกันนำไปสู่การตอบโจทย์ประเทศ สร้างระบบนิเวศของการสร้างนักวิจัย 2) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 4) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ
ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภายใต้การบริหารงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในภูมิภาค และเพื่อกระจายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ระดับภูมิภาค สนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมจากกลไกระบบนิเวศเชิงนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบ (Fully Innovative Ecosystem) โดยผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ (SML Enterprises) กลุ่ม Startups นักวิจัย อาจารย์และนักศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคสามารถเข้าถึงบริการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยมีการดำเนินกิจกรรมผ่าน 4 แผนงานหลัก ดังต่อไปนี้
1. แผนงานพัฒนาบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park Service Platform) ได้แก่ การบริการออกแบบนวัตกรรม การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแก่ภาคอุตสาหกรรม การให้บริการฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม ดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักรู้ถึงบริการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและบุลคลทั่วไป
2. แผนงานบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
3. แผนงานพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่
4. แผนงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research Platform)
กลไกการทำงานร่วมกันระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจและผู้ประกอบการ Startup
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีภารกิจที่สำคัญ คือ เป็นกลไกการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานความรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาค โดยผลักดันให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน โดยอุทยานวิทยาศาสตร์จะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการบริการด้านการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมพัฒนานวัตกรรม และการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนให้แก่ภาคเอกชน นำไปสู่การสร้างระบบการแข่งขันทางธุรกิจแบบทะเลสีคราม (Blue ocean)
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายผ่านกลไกแผนงานหลักและกิจกรรมสร้างความตระหนักถึงบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคบนพื้นฐานความเข้มแข็งและทรัพยากรของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่ส่งผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยจะส่งผลให้ภาคเอกชนในแต่ละภูมิภาคมีความเข้มแข็ง มีการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างต่อเนื่องและทำให้เกิดนวัตกรรมนำธุรกิจผ่านการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการสร้างธุรกิจนวัตกรรมใหม่ นำไปสู่การจ้างงานที่มีความรู้ทักษะสูง และการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่และของประเทศ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคถือเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนและพัฒนาของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
ข้อเสนอในการส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรพิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อนและอุตสาหกรรมที่ควรได้รับการส่งเสริมต่อยอดของแต่ละภูมิภาค และส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งในการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ได้มีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของแต่ละภูมิภาค ดังนี้
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) เน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่ ได้แก่
1. อุตสาหกรรมในห่วงโซ่คุณค่าของพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพรเมืองเหนือ และข้าว (ครอบคลุมตั้งแต่เกษตรต้นน้ำด้านพันธุ์พืช ไปจนถึงอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปผลิตภัณฑ์ และกระบวนการแปรรูปอาหาร)
2. อุตสาหกรรม IT Software และ Digital Content (เชื่อมโยงอุตสาหกรรมการผลิต หัตถอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมออกแบบและสร้างสรรค์)
3. อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ
4. อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และวัสดุด้านพลังงาน
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น) เน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่ ได้แก่
1. อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปศุสัตว์ เช่น โคนม โคเนื้อ ไก่ สุกร และปลา อุตสาหกรรมยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์
2. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
3. อุตสาหกรรมพัฒนาพลังงานทางเลือก
4. อุตสาหกรรมที่เป็นความต้องการและกำลังเติบโตในพื้นที่ เช่น ผลิตชื้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ/วัสดุก่อสร้าง/วัสดุบรรจุภัณฑ์
5. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแร่ธาตุที่สำคัญในภูมิภาค เช่น เกลือสินเธาว์ โปรแตซ ทางแดง ทองคำ เป็นต้น
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ (จังหวัดสงขลา) เน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่ ได้แก่
1. อุตสาหกรรมยางพารา
2. อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน
3. อุตสาหกรรมอาหารทะเล
4. อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครราชสีมา) เน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่ ได้แก่
1. เกษตรแปรรูปและอาหารแบบครบวงจร (Agri-Food Cluster)
2. พลังชีวภาพ (Bioenergy Cluster)
3. ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Cluster)
4. สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society Cluster)
5. เมืองอัจฉริยะ (Smart City)
ผมเคยเป็นที่ปรึกษาของประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี นายสมบูรณ์ ตรีพรเจริญ และหอการค้าจังหวัด ช่วงปี 2563-2564
พบว่า หากมีกลไกของอุทยานวิทย์ไปเชื่อมกับทีมงานสภาอุตสาหกรรมและหอการค้า จะสามารถผลักดันผู้ประกอบการใหม่ หรือนักศึกษาปีสาม-สี่เข้าสู่อุตสาหกรรมในภาคปฏิบัติได้ดี
ฝากให้อุทยานวิทย์ ม.บูรพา เข้าร่วมประชุมประจำเดือนหรือนำเสนอโครงการต่าง ๆ ต่อสภาอุตสาหกรรมได้
หรือติดต่อรองประธานสภาฯ นายณัฏฐ์ธน สาตรจีนพงษ์ 098 4023514 ที่ดูแลงานกระทรวง อว.