Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
อว. กับ Soft Power (ภาค 1) 1005
สังคมบนโลกในยุคปัจจุบันเป็นแบบหมู่บ้านโลก (global village) เป็นโลกไร้พรมแดน ประเทศระดับผู้นำโลกหันมาขยายอิทธิพลของตนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยอาศัย “อำนาจละมุน” หรือ “อำนาจแบบอ่อน” (soft power) มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การชักจูงหรือการโน้มน้าวประเทศอื่นให้ปฏิบัติตามความประสงค์ โดยการสร้างเสน่ห์ ภาพลักษณ์ ความชื่นชม และความสมัครใจพร้อมที่จะร่วมมือ อำนาจในลักษณะนี้เป็นที่ยอมรับมากกว่าการใช้อำนาจแบบแข็งหรืออำนาจในเชิงบังคับ (hard power) เช่น มิติอำนาจทางการทหาร ซึ่งประเทศไทยมี soft power ที่โดดเด่นและเป็นที่ยกย่องยอมรับในระดับโลกหลายด้าน เช่น วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และอาหาร หากมีการเสริมสร้างบูรณาการเชิงวิชาการผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา จะทำให้เกิดการเพิ่มศักยภาพและการพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างมีส่วนร่วมในทุกมิติได้
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาอาหารไทยได้สร้างชื่อเสียงบนเวทีโลกจนกลายเป็นจุดขายของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการผลักดันของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2545 ที่สร้างแคมเปญ “Global Thai” เพื่อผลักดันอาหารไทยสู่สายตาชาวโลก จำนวนนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ขาดสายและมีอัตราตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในเหตุผลหลักที่นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางมายังประเทศไทยคือ ต้องการมาลองลิ้มชิมรสอาหารไทยด้วยตัวเอง
รัฐบาลไทยได้ผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ประกอบด้วย อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และการอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) ซึ่งเชื่อว่ายังจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมส่งออกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19 ที่สำคัญของไทยด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญกับ ‘มรดกวัฒนธรรม’ และ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ซึ่งเป็นพลังสำคัญของการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมสมอง ศึกษาวิจัย ทำงาน สร้างสรรค์อย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมา อว.ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาอันสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายใต้แนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้วิสัยทัศน์ “เปลี่ยนข้อได้เปรียบ (Comparative Advantage) ที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลกเกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย อว. ได้นำเสนอร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 ต่อคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ในการร่วมขับเคลื่อนวาระแห่งชาติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับ soft power ไม่มากนัก ไม่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ชาติโดยตรงที่จะนำไปสู่แผนปฏิบัติการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ขณะที่ภาควิชาการเองยังศึกษาวิจัยในบริบทของมรดกทางวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ และการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทว่ายังมีประเด็นอื่น ๆ อีกมากที่จะสามารถสร้าง “พลังอำนาจ” ให้กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนบทบาทด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แนวคิดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เริ่มมีนโยบายปรากฏ แม้ไม่ได้ถูกกำหนดอย่างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 แต่ก็นำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นองค์กรเฉพาะด้านเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ และเริ่มเด่นชัดขึ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งเน้นการนำความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ฉบับแรก พ.ศ. 2563-2565 และฉบับที่สอง พ.ศ. 2566-2570 ได้บรรจุเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติด้วยเช่นกัน
ดังนั้น โจทย์ท้าทายสำคัญของ อว. คือ ประเทศไทยมีของดีประจำถิ่นอยู่มากมาย มี soft power หลากหลายในชุมชนต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศที่ได้รับการยกย่องเชิดชู แต่จะทำอย่างไรให้ภูมิปัญญามรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้ กลับมาเป็นสินทรัพย์ที่สร้างรายได้และการทำมาหาเลี้ยงชีพให้คนรุ่นหลังในท้องถิ่น แปลง‘วัฒนธรรมลำ้ค่า’ เป็น ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่า โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้อาหารไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย การแพทย์แผนไทย การนวดไทย และแหล่งท่องเที่ยวของไทย ให้แบรนด์ประเทศไทยปรากฏแก่สายตาชาวโลกผ่านการท่องเที่ยวและสื่อต่าง ๆ ให้คนทั่วโลกเข้ามาสัมผัส เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสัมผัสเสน่ห์แบบไทย ตลอดจนมีกระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผ่านการคิดสร้างสรรค์และออกแบบให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยผสานกับวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เช่นเดียวกับเกาหลีใต้และมหาอำนาจอื่น ๆ ขณะเดียวกันยังสามารถรับมือและตอบสนองต่อนโยบายการเพิ่ม soft power ของประเทศต่าง ๆ อย่างเหมาะสมท่ามกลางการไหลบ่าของวัฒนธรรมสมัยนิยมรูปแบบต่าง ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ รวมถึงการยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก
ที่มา : ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ววน. ขับเคลื่อน Soft Power สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (สกสว.)
ขอบคุณค่ะ พี่เอกกี้ ทำให้หนูเข้าใจเรื่องนี้ มากยิ่งขึ้น และเห็นภาพของคำว่า Soft power มากขึ้น และจะได้นำไปปรับให้เข้ากับงานอีเว้นท์ ของทางภาคเหนือ ที่จะจัดในช่วง 24-25 กพ. นี้ จะได้นำผลิตภัณฑ์ที่สื่อความเป็นไทย ของเราที่ผ่านการพัฒนาและเพิ่มมูลค่า จากทั้ง 3 ภูมิภาค ทั้งสิ่งทอ และอาหาร สมุนไพรต่างๆ ไปนำเสนอผ่านงานอีเว้นนี้ ให้สอดคล้องกับนโยบาย ไปด้วยค่ะ.....รอติดตามเรื่องราวดีๆ จากพี่เอกกี้ ต่อนะคะ
ขอบใจจ้าน้องฮ๊อป ที่พี่ทำเรื่องนี้ได้เพราะน้องฮ๊อปและทีม ปค. ที่น่ารักๆ ทั้งหลายคนคอย support ข้อมูล ร่วมมือร่วมใจ และให้กำลังใจเป็นอย่างดีเสมอมาจ้า ขอให้งานวันที่ 24-25 ก.พ. นี้ราบรื่นนะจ๊ะ แล้วมาอัพเดตเขียนบล็อกในนี้ด้วยนะ รออ่านอยู่ <3 <3 <3
นอกจากนี้ทางโครงการ UBI เองก็สามารถสร้างการบ่มเพาะเพื่อสนับสนุน Soft Power เฉพาะทางได้อีกนะคะ เช่น การบ่มเพาะธุรกิจด้านการออกแบบและแฟชั่น ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง
และอยากเสนอการทำ Soft Power ที่เราควรทำ BenceMark Soft Power -ของต่างชาติเทียบเคียง เพื่อให้ Soft Power ไทยมีกลยุทธในการแข่งขันที่ชัดเจน ดังตัวอย่าง
อีกทั้งเนื่องจากประเทศไทย มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน ซึ่งสมารถทำ Soft Power ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะลงไป เช่นตัวอย่างของ Soft Power อีสานสไตล์ เป็นต้น ค่ะ
Soft Power ภาค 2 ในส่วนของตัวเองยังไม่สามรถไปต่อได้ รอนโยบายอยู่ครับ เป็นหัวข้อสุดฮิตที่มีคนเล่นเยอะ