เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
สำหรับสถานการณ์การปลูกพริกในประเทศไทยมีแหล่งปลูกกระจายทั่วทุกภาค แต่พบปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ส่วนภูมิภาคอื่น ๆ มีการปลูกเพียงเล็กน้อย โดยพริกที่นิยมปลูกมี 2 กลุ่ม คือ Capsicum furtescens (พริกเผ็ด) ได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูใหญ่ และ C. annuum ได้แก่ พริกหวาน พริกหยวก และพริกชี้ฟ้า พริกขี้หนูใหญ่มีการปลูกมากที่สุด ซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์จินดา หัวเรือ ห้วยสีทน ยอดสน และลูกผสมซุปเปอร์ฮอท มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ เลย ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี รองลงมาคือพริกชี้ฟ้า มีแหล่งผลิตที่สำคัญคือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ลำพูน อุตรดิตถ์ ราชบุรี และนครราชสีมา และพริกขี้หนูสวน แหล่งผลิตที่สำคัญคือ เชียงใหม่ นครปฐม กาญจนบุรีและศรีสะเกษ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญในการปลูกพริก คือผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากในการปลูกพริกมักประสบปัญหาการระบาดของโรค แมลง และไส้เดือนฝอยสาเหตุโรครากปม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกพริกในช่วงฤดูฝน และฤดูร้อน นอกจากนี้ระบบการปลูกพืชของเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำ ๆ บนพื้นที่เดิม ทำให้เกิดการสะสมของโรค แมลง และไส้เดือนฝอย จากปัญหาดังกล่าวทำให้ปริมาณผลผลิตและคุณภาพผลผลิตลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้พริกในประเทศมีราคาแพง และมีการนำเข้าพริกสด พริกแห้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว จีน และกัมพูชา เป็นต้น
