การจัดการน้ำชุมชน โดยความร่วมมือของ กปว. และ สสน.  53

คำสำคัญ : การจัดการน้ำ    

“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม กิจกรรมการใช้น้ำส่วนใหญ่ของประเทศจึงเป็นเพื่อการเกษตรกรรม ลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมก็มีความแตกต่างกัน คนในแต่ละภูมิภาคมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการจัดการน้ำให้เข้ากับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น ดังนั้น การบริหารและจัดการน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่จำยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนไทยทุกภูมิภาค”

 

กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการบริหารและจัดการน้ำในระดับพื้นที่ โดยร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หน่วยงานที่มีความเป็นเลิศด้านสารสนเทศการจัดการน้ำ และเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ร่วมขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้าน ววน. สู่การบ่มเพาะและถ่ายทอดในระดับพื้นที่ ผ่านกลไก อว.ส่วนหน้า และภาคีเครือข่ายความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน

 

การดำเนินงานด้านบริหารและจัดการน้ำผ่านกลไก อว.ส่วนหน้า ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จ.ลำปาง
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมด้วย นายวรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
(องค์การมหาชน) และผู้แทนจาก กปว. เข้าร่วมขับเคลื่อนการจัดการน้ำผ่านกลไก อว.ส่วนหน้า

 

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ จ.ลำปาง มีพื้นที่ทำการเกษตรและในปัจจุบันการทำการเกษตรก็มีวิถีที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับการทำเกษตรสมัยใหม่ได้ การบริการจัดการน้ำ (น้ำท่วม/น้ำแล้ง) นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานในการทำการเกษตรให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ให้เป็นการเกษตรอัจฉริยะได้ สำหรับการเรียนการสอน อยากให้ศึกษาแนวทางการทำหลักสูตรให้สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ หรืออาจจะเป็นหลักสูตรระยะสั้น ต่อไป

สำหรับหลักสูตรด้านการบริหารและจัดการน้ำ มีการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารและจัดการน้ำมาเป็นตัวช่วย โดยให้เข้าใจเกี่ยวกับคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (ที่มีการบรูณาการองค์ความรู้จาก 52หน่วยงาน จาก 12กระทรวง) การใช้ Application ThaiWater (สารสนเทศน้ำของไทย) และข้อมูลแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่นั้น ๆ รวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้เฝ้าระวังและเตือนภัยพิบัติจากน้ำ เช่น ระบบโทรมาตรอัตโนมัติ ระบบเทคโนโลยีสำรวจภูมิประเทศ ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ระบบศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัดซึ่งในปัจจุบันมีการขยายผลและนำไปใช้แล้ว 8แห่งทั้งประเทศ เป็นต้น

 

ท้ายนี้ การบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่มีการประยุกต์ใช้ ว และ ท ตามแนวพระราชดำริ โดยต้องเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของน้ำที่แต่ละพื้นที่มีความแตงต่างกันไป
การสร้างภูมิคุ้มกันพื้นฐานให้ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านน้ำของคนในชุมชน เพื่อให้สามารถสร้างความยั่งยืนด้านพัฒนาในระยะยาวได้ต่อไป

 

สำหรับการดำเนินงานในส่วนนี้ มีจุดเด่นคือ ภาคีเครือข่ายความร่วมมือในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด หน่วยงานภาคการศึกษา และหน่วยงานในระดับกระทรวง ที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถแก้ไข/บรรเทา การจัดการด้านน้ำ (น้ำแล้ง/น้ำท่วม) ผ่านการใช้

องค์ความรู้ด้าน ววน. โดยมีมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ ห้องปฏิบัติการ และผู้เชี่ยวชาญ ถ่ายทอดให้กับภาคประชาชน โดยเรียนรู้ความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งสามารถนำมาบรูณาการกับการทำงานในปัจจุบันของผู้เขียนได้ ดังนี้

  1. เรียนรู้ปัญหา/ความต้องการ/จุดเด่น/จุดด้อย ในแต่ละงาน หรือในแต่ละบริบทของสังคม  
  2. วิเคราะห์/หาสาเหตุ/ประเมินผลกระทบ และเขียนแผนการดำเนินงาน
  3. เรียนรู้การทำงานเป็นทีม บรูณาการศาสตร์ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา และหาโอกาส ในการทำงาน
  4. ดำเนินงาน และประเมินผลการทำงานอย่างต่อเนื่อง
  5. สรุปผลการดำเนินงานร่วมกัน วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

 

 

 


เขียนโดย : นายเรืองเดช  ฟักเถื่อน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ruangdet.ft@gmail.com