เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ชื่อ
การใช้ประโยชน์จากของเสียอโลหะที่เกิดจากซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
ชม 80 ครั้ง
53
เจ้าของ
รศ. ดร.สุพพัต ควรพงษากุล
เมล์
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล preeyapatha.bo
รายละเอียด
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตในกลุ่มไม่รับแรงที่ผสมของเสียอโลหะจากซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (NMF) และตรวจสอบประสิทธิภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษานี้สามารถแบ่งการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตในกลุ่มไม่รับแรงจำแนกตามส่วนผสมได้เป็น 4 แบบ คือ ส่วนผสมที่ 1 (ปูนซีเมนต์ และทราย) ผลิตบล็อกประสาน โดยใช้ NMF ในการแทนที่ทรายบางส่วน ส่วนผสมที่ 2 (ปูนซีเมนต์ ทราย และดินลูกรัง) ผลิตบล็อกประสาน และแผ่นปูพื้น โดยใช้ NMF ในการแทนที่ดินลูกรังบางส่วน ส่วนผสมที่ 3 (ปูนซีเมนต์ ทราย และหินฝุ่น) ผลิตบล็อกปูหญ้า โดยใช้ NMF ในการแทนที่ทรายทั้งหมด และหินฝุ่นบางส่วน และส่วนผสมที่ 4 (ปูนซีเมนต์ ทราย และหินกรวด) โดยใช้ NMF ในการแทนที่ทรายบางส่วน โดยในการผลิตส่วนผสมที่ 1 และ 2 ใช้เครื่องอัดผลิตภัณฑ์คอนกรีตแบบกึ่งอัตโนมัติ ส่วนผสมที่ 3 ใช้เครื่องอัดผลิตภัณฑ์คอนกรีตแบบกึ่งอัตโนมัติร่วมกับระบบสั่น และส่วนผสมที่ 4 ใช้การขึ้นรูปคอนกรีตพรุนในแบบสี่เหลี่ยม ผลิตภัณฑ์ที่ได้นำมาทดสอบคุณสมบัติ เช่น การดูดซึมน้ำ ความต้านทานแรงอัด และความต้านทานแรงดัดตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง โดยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์เบื้องต้น จะนำมาทำการทดสอบการชะละลายโลหะหนักต่อไป
ผลการศึกษาโดยรวมพบว่าการนำของเสียอโลหะจากซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (NMF) มาแทนที่มวลรวมในส่วนผสมต่างๆ ส่งผลต่อคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์คอนกรีตไม่รับแรงทุกชนิด ซึ่งผลการทดสอบพบว่าในส่วนผสมที่ 1 บล็อกประสานสูตรที่ 1 (ผสมของเสียอโลหะจากซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 5) และ บล็อกประสานสูตรที่ 2 (ผสมของเสียอโลหะจากซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 10) มีค่าความต้านทานแรงอัดผ่านตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนบล็อกประสาน (CPS602/2547) จึงได้นำบล็อกประสานทั้ง 2 สูตรนี้มาทดสอบการชะละลายโลหะหนัก และพบว่าค่าความเข้มข้นของทองแดงในน้ำชะละลายจากบล็อกประสานทั้ง 2 สูตรยังมีค่าสูงเกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ตามพบว่าค่าความเข้มข้นของทองแดงในน้ำชะละลายลดลงอย่างมาก อย่างมีนัยสำคัญ และต่ำกว่าค่าที่กำหนดตามมาตรฐานหลังจากทำการเพิ่มปูนซิเมนต์ที่ 3% (โดยน้ำหนัก) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์บล็อกประสานสูตรที่ 2 ของส่วนผสมที่ 1 และทำการเพิ่มปูนซีเมนต์ที่ร้อยละ 3 (โดยน้ำหนัก) มีความเหมาะสมในการนำไปใช้งานมากที่สุด ในส่วนของการทดลองผลิตส่วนผสมที่ 2 บล็อกประสานทั้งหมดที่ผสม NMF ยังไม่ผ่านมาตรฐานความต้านทานแรงอัดที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนบล็อกประสาน และแผ่นปูพื้นทั้งหมดที่ผสม NMF ยังไม่ผ่านมาตรฐานการดูดซึมน้ำ และความต้านทานแรงดัดที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานกระเบื้องคอนกรีตปูพื้น (มอก.378-2531) เช่นเดียวกัน สำหรับการทดลองผลิตส่วนผสมที่ 3 บล็อกปูหญ้าทั้งหมดที่ผสมNMF รวมถึงผลิตภัณฑ์สูตรเดิมที่ผลิตขายอยู่นั้น (ไม่มีส่วนผสม NMF) ยังไม่สามารถผ่านค่ามาตรฐานด้านการดูดซึมน้ำ และความต้านทานแรงอัดตามมาตรฐานบล็อกปูหญ้า (ASTM C1319-17) ในส่วนของคอนกรีตพรุนส่วนผสมที่ 4 พบว่า สัดส่วนของ NMF ที่เหมาะสมสำหรับคอนกรีตพรุนที่ใช้มวลรวมหยาบขนาดเล็กและมวลรวมหยาบขนาดใหญ่ คือ NMF เท่ากับ 40 % และ 20 % แทนที่มวลรวมละเอียด ตามลำดับ โดยพิจารณาจากการซึมผ่านน้ำ ซึ่งผ่านอยู่ในช่วงที่กำหนดตามข้อกำหนดของ ACI 522R – 10 กำลังรับแรงอัดที่มีค่าสูงสุด และความเข้มข้นของทองแดงในน้ำชะละลายมีค่าไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2535
บันทึกโดย