เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
การพัฒนายาชีววัตถุเพื่อการรักษาโรคไข้เลือดออกจากไวรัสทั้งสี่สายพันธุ์โดยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคจากกลไก ADE (Antibody dependent enhancement) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากแอนตีบอดีต่อไวรัสเดงกี่ 1 ใน 4 สายพันธุ์ เป็นตัวที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อเดงกี่ที่รุนแรง เมื่อบุคคลนั้นได้รับเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ด้วยเชื้อต่างสายพันธุ์ ทีมผู้วิจัยได้ประสบความสำเร็จในการสร้างโมโนโคลนอลแอนติบอดีมนุษย์ (HuMAbs) ที่จับเฉพาะต่อโปรตีน Envelope (E) ของเชื้อไวรัสเดงกี่และสามารถยับยั้งเชื้อได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ และลดอัตราการตายของหนูที่ฉีดด้วยเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตามพบว่าแอนติบอดีดังกล่าวสามารถก่อให้เกิด ADE ได้ในความเข้มข้นต่ำ ๆ ซึ่งการลดการเกิด ADE นั้นสามารถทำได้โดยการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในส่วนของ IgG Fc ที่รับผิดชอบในการจับกับ FcƔR บนผิวเซลล์ โดยพบว่าแอนติบอดีที่เปลี่ยนแปลงนี้สามารถลดการเกิด ADE ในหลอดทดลอง และสามารถลดอัตราการตายในหนูที่ได้รับเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม ในการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในส่วนของ IgG Fc นั้นสามารถทำได้หลายแบบ เช่น N297Q และ L234A/L235A (LALA) แต่อาจส่งผลต่อการเกิดปฏิกิริยาด้านอื่น เช่น การจับกับ complement และการเกิด effector function เช่น ADCC และ CDC ดังนั้นในการคัดเลือกแอนติบอดีที่มีความเหมาะสมในการนำไปพัฒนาต่อเพื่อเป็นยารักษาโรคไข้เลือดออก จึงมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาคุณสมบัติอื่นร่วมด้วย
