เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ชื่อ
สูตรและกรรมวิธีการเตรียมยางพาราคอมโพสิตที่เติมสารหน่วงไฟลูกผสมระหว่างซิลิกาและแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต
ชม 148 ครั้ง
61
เจ้าของ
ผศ.ดร. สราวุธ ประเสริฐศรี และคณะ
เมล์
sarawut.p@ubu.ac.th
รายละเอียด
ในการประดิษฐ์นี้ได้ออกสูตรยางพาราทนการลามไฟที่เติมสารเติมแต่งลูกผสมระหว่างซิลิกาและแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต โดยนำองค์ความรู้เดิมมาต่อยอด กล่าวคือ ซิลิกาสามารถให้คุณสมบัติการเสริมแรงแก่วัสดุยางพาราคอมโพสิต และแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟตช่วยปรับปรุงคุณสมบัติหน่วงการลามไฟของวัสดุพอลิเมอร์ แต่การใช้งานเป็นสารเติมแต่งในวัสดุพอลิเมอร์คอมโพสิตยังคงใช้ในรูปแบบเดี่ยวๆ หรืออย่างมากก็จะนำผงซิลิกาและผงแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟตมาผสมกับยางพาราโดยตรง ดังนั้นในงานนี้จึงต่อยอดใช้เป็นสารเติมแต่งลูกผสมระหว่างซิลิกาและแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟตที่สังเคราะห์ขึ้นโดยเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างซิลิกาและแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต และทราบปริมาณที่แน่นอนของแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต โดยที่แอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต เคลือบบนพื้นผิวของซิลิกา สำหรับนำมาใช้เป็นสารเสริมเติมแต่งในการออกสูตรและเตรียมเป็นวัสดุยางพาราคอมโพสิต โดยสรุปสมบัติและลักษณะเด่นของผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากการต่อยอดองค์ความรู้เดิม ดังนี้
1) การออกสูตรยางพาราคอมโพสิตทนไฟชนิดใหม่ โดยเป็นการเปิดเผยสูตรยางพาราคอมโพสิตที่เติมสารหน่วงไฟลูกผสม (Hybrid flame retardant materials) ระหว่างซิลิกาและแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟตเป็นครั้งแรก
2) กรรมวิธีการเตรียมยางพาราคอมโพสิตที่เติมสารหน่วงไฟลูกผสมระหว่างซิลิกาและแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต ซึ่งสารหน่วงไฟลูกผสมสามารถเตรียมได้ง่ายและไม่ซับซ้อน โดยการนำซิลิกามาเคลือบพื้นผิวด้วยสารหน่วงไฟแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต และใช้สารหน่วงการลามไฟที่ใช้เป็นกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือ กลุ่มที่สารหน่วงการลามไฟที่ปราศจากสารฮาโลเจน (Halogen-free flame retardant) ซึ่งจุดเด่นของการนำสารหน่วงไฟลูกผสมที่สังเคราะห์ได้มาใช้ในขั้นตอนการบดผสมยางที่ดีกว่าวิธีดั้งเดิมที่แยกกันเติมสารแต่ละชนิดของซิลิกาหรือแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต คือ ช่วยลดขั้นตอนและลดเวลาในการเติมสารเคมีหลายครั้ง ลดปัญหาการฟุ้งกระจายของซิลิกาที่ในระหว่างบดผสมยางคอมพาวด์ และช่วยให้แอมโมเนียมพอลิฟอสเฟตผสมเข้ากับเนื้อยางพาราได้ง่ายขึ้น
3) ผลผลิตสุดท้ายที่ได้จากกรรมวิธีในการประดิษฐ์นี้ คือ วัสดุยางพาราคอมโพสิตที่เติมสารหน่วงการลามไฟลูกผสม (Hybrid flame retardant materials) ระหว่างซิลิกาอสัณฐานและแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต ตลอดจนสร้างองค์ความรู้สำหรับนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ เป็นการสร้างโอกาสทางเลือกสำหรับนำยางพาราคอมโพสิตไปประยุกต์ใช้งานด้านการป้องกันการติดไฟในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอาคารบ้านเรือน งานตกแต่งและสถาปัตยกรรม และในอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น ยางฉนวนกันความร้อน และแผ่นดูดซับเสียง เป็นต้น
โดยผลงานประดิษฐ์คิดค้นนี้เกิดคุณค่าและผลกระทบต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมในด้านต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ดังนี้
- ด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบยางพารา โดยการพัฒนาเป็นวัสดุทางเลือกที่มีประสิทธิภาพด้านความแข็งแรงและหน่วงการลามไฟ โดยการใช้สารเติมแต่งลูกผสมชนิดใหม่สังเคราะห์ได้มาใช้ในขั้นตอนการบดผสมยางที่ดีกว่าวิธีดั้งเดิมที่แยกกันเติมสารแต่ละชนิดของซิลิกาหรือแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต คือ ช่วยลดขั้นตอนและลดเวลาในการเติมสารเคมี ขจัดปัญหาการฟุ้งกระจายของสารเคมี มีความเป็นไปในการนำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจ นำไปขยายผลต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ของยางพาราที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมยางทนไฟต่อไป และในขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างความร่วมมือและพัฒนาข้อเสนอโครงการการต่อยอดวิจัยร่วมกับภาคเอกชน
- ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาวัสดุยางพาราคอมโพสิตชนิดใหม่ที่เติมสารหน่วงการลามไฟลูกผสมระหว่างซิลิกาและแอมโมเนียมพอลิฟอสเฟต ซึ่งเป็นสารหน่วงการลามไฟที่ปราศจากสารฮาโลเจน (Halogen-free flame retardant) เป็นการสังเคราะห์สารใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อวัสดุยางพาราคอมโพสิตเกิดการเผาไหม้ก็ช่วยหน่วงการลามไฟและไม่ปลดปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และเกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อม
คำสำคัญ
บันทึกโดย
