เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
การใช้ประโยชน์จากเยื่อกล้วยเหลือทิ้งภายหลังกระบวนการแยกเส้นใย สำหรับพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ที่มา : จังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจในระดับชุมชน ระดับจังหวัด มีการขยายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้คนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากมีวิธีการนำเยื่อกล้วยเหลือทิ้งภายหลังกระบวนการแยกเส้นใย มาพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ จะช่วยส่งเสริมการขายและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้กับวิสาหกิจชุมชนได้อีกทางหนึ่ง งานวิจัยนี้จะช่วยส่งเสริมการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน เพื่อส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์นำไปสู่การคัดสรรดาวในระดับที่สูงขึ้น ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีงานบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์โดยใช้วัสดุธรรมชาติจากต้นกล้วยหอมทอง ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อีกทั้งยังเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านบรรจุภัณฑ์ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชน ตามมาตรฐานสากลเชิงการค้าอีกด้วย
ผลผลิต : ได้บรรจุภัณฑ์จากเยื่อกล้วยเหลือทิ้งภายหลังกระบวนการผลิตที่สามารถสร้าง อัตลักษณ์ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 11 ต้นแบบ
ผลลัพธ์ : วิสาหกิจชุมชนเป้าหมายและกลุ่มวิสาหกิจในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งสนใจนำกรรมวิธีไปประยุกต์ใช้ ได้กรรมวิธีในการผลิตกระดาษด้วยวิธีหัตถกรรม ผ่านกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Eco-Friendly และใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างจากที่อื่น ๆ
ผลกระทบ : ช่วยลดต้นทุนการซื้อกระดาษหรือบรรจุภัณฑ์โดยใช้กระดาษจากวัสดุในชุมชนของตนเอง สำหรับสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้ง
