เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
การสร้างบ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบถุงหมักพลาสติก
ขบวนการเกิดก๊าซชีวภาพ
ก๊าซชีวภาพ หรือไบโอก๊าซคือก๊าซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ภายใต้สภาวะที่ปราศจากออกซิเจน ในขณะที่เกิดการย่อยสลายนั้นจะเกิดก๊าซขึ้นกลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน (Methane, CH4)รองลงมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) แอมโมเนีย (NH3) ไฮโดรเจนซัลไฟด์(H2S) และก๊าซอื่นๆ ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซที่มีมากที่สุด มีคุณสมบัติไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และติดไฟได้ เบากว่าอากาศ แตมีกลิ่นเหม็น นั้นเกิดจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ซึ่งเมื่อจุดไฟแล้วกลิ่นเหม็นจะหมดไป
องค์ประกอบของก๊าซชีวภาพ
ชนิด ปริมาณ(%)
มีเทน 50-70
คาร์บอนไดออกไซต์ 30-50
อื่นๆแอมโมเนียม,ไฮโดรเจนซัลไฟด์และไอน้ำ เล็กน้อย
วัตถุดิบสำหรับผลิตก๊าซชีวภาพ
ได้แก่มูลสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งของเสีย น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมทางการเกษตรเช่นโรงงานแป้งมันสัมปะหลังโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงงานผลไม้กระป๋อง โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตแอลกอฮอล์ โรงฆ่าสัตว์ และจากขยะชุมชุน หรือร้านค้า ภัตตาคาร เป็นต้น
การสร้างบ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบถุงหมักพลาสติก
การผลิตก๊าซชีวภาพแบบถุงหมัดพีวีซีขนาดที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 10-20 ตัว ควรใช้ถุงพลาสติกพีวีซี ความยาว 6 เมตร เส้นรอบวง 5.25 เมตร (ขนาดของบ่อดินมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 1เมตร ) มีปริมาตร รวม 7.8 ลูกบาศก์เมตร แยกเป็นส่วนของเหลว 5.9 ลูกบาศก์เมตร ก๊าซ 1.7 ลูกบาศก์เมตร สามารถผลิตก๊าซชีวภาพต่อวันได้ประมาณ 35 % ของของเหลว หรือเท่ากับ 2 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการนำก๊าซจำนวนนี้ ไปใช้กับเตาหุงต้มสำหรับใช้ทำอาหารในครัวเรือนได้พอดี (ใช้ก๊าซ 0.15 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง)
ในมูลสุกรทั่วไป มีของแข็งประมาณ 15 % ซึ่งในบ่อหมักต้องการน้ำที่มีส่วนผสมของของแข็งประมาณ 3 % ดังนั้นการผลิตก๊าซดังกล่าวต้องใช้การสัดส่วนของมูลและน้ำเท่ากับ 1 : 1 ถึง 1:4 ส่วน จึงควรเติมมูลวันละ 24 ลิตร และใช้น้ำ วันละ 24 - 96 ลิตร หรือเท่ากับควรเลี้ยงสุกรอย่างน้อยจำนวน 6 ตัว
ขั้นตอนการสร้างบ่อหมัก
1. ศึกษาระบบการทำงานของบ่อก๊าซชีวภาพให้เข้าใจดีเสียก่อน
2. เตรียมพื้นที่
พื้นที่ที่จะทำการสร้างบ่อหมัก ควรเป็นพื้นที่ลาดเอียงต่ำกว่าระดับคอกสัตว์เล็กน้อย เพื่อให้มูลสัตว์ไหลระบายเข้าบ่อเอง หรืออาจทำเป็นบ่อชนิดตักมูลสัตว์มาเติมก็ได้ หากไม่คำนึงถึงระดับของบ่อหมักและคอกสัตว์
ขนาดของหลุมที่จะขุด ควรมีขนาดกว้างด้านบน 2 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 1 เมตร (สำหรับการเลี้ยงสุกรขนาดเฉลี่ยปานกลาง จำนวน 10 - 15 ตัว หรือเท่ากับบ่อเก็บมูลปริมาณ 7 - 8 ลูกบาศก์เมตร) บ่อสำหรับเป็นแนวสำหรับวางท่อรับและระบายมูลด้วย โดยให้ทางเข้ามูลมีระดับสูงกว่าทางระบายมูลออกเล็กน้อย
3.เตรียมวัสดุอุปกรณ์
วัสดุอุปกรณ์สำหรับการทำบ่อหมักขนาด 7- 8 ลูกบาศก์เมตร อย่างคร่าวๆดังนี้
ชนิด ราคา(บาท)
1.พลาสติก พีวีซี ความหนา 0.25 มม. กว้าง 1.8 เมตร ยาว 6 เมตร จำนวน 3 ผืน
2.ท่อพีวีซีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 1.2 เมตร จำนวน 2 อัน
3.กาวอีแว็ป 1/2 กระป๋อง พร้อมแปรง
4.เกลียว นอก - ใน พีวีซี 3/4 นิ้ว จำนวน 1 ชุด
5.ยางในรถจักยานยนต์เก่า
6.แผ่นพลาสติกแข็ง ขนาด 3 นิ้ว 2 แผ่น(จากกระป๋องน้ำมันเครื่องเก่า)
7.ท่อพีอี หรือท่อพีวีซี ข้อต่อ ขนาด3/4 นิ้ว - 1 นิ้ว จำนวน ขึ้นอยู่กับความยาวของท่อส่งก๊าซที่ต้องการ(ไม่ควรเกิน 20 เมตร)
8.สามทางพีวีซี3/4 นิ้ว - 1 นิ้ว จำนวน 1 อัน
9.ขวดรองรับไอน้ำ 1 ใบ (ขวดน้ำดื่มที่ใช้แล้ว)
10.วาล์วทองเหลือง 4 หุน หรือบอลวาล์ว จำนวน 1 อัน
11.หัวก๊าซ 1 หัว
12.สายส่งก๊าซความยาว 2 เมตร
13.ปูนซีเมนต์ 1 ถุง
14.วงบ่อ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 - 80 ซ.ม.
4.ประกอบถุงหมักพีวีซี
เมื่อจัดเตรียมอุปกรณ์ครบแล้ว เริ่มประกอบถุงหมักพีวีซี ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ตัดพลาสติกพีวีซีที่มีขนาดกว้าง 1.8 เมตร ยาว 6 เมตร จำนวน 3 ชิ้น ข้อควรระวังในขั้นตอนนี้คือ ควรวางแผ่นพลาสติกบนพื้นราบ ไม่มีกรวด หินหรือทราย เพราะจะทำให้พลาสติกมีรอยขีดข่วนหรือรั่วได้
ขั้นตอนที่ 2 วางพลาสติกที่ตัดแล้วตั้ง 3 ชิ้น ตามแนวยาว ให้ด้านข้างทับกันประมาณ 3 นิ้ว จากนั้นติดพลาสติกเข้าด้วยกันด้วยกาวอีแวป ใช้มือกดรีดบริเวณที่ทากาวเบาๆ เพื่อย้ำให้พลาสติกติดกันแน่นขึ้นและเป็นการตรวจสอบรอยรั่วอีกทางหนึ่ง ข้อแนะนำ ไม่ควรทากาวให้หนาเกินไปเพราะกาวจะทำให้พลาสติกย่น เกิดเป็นรูรั่วได้
ขั้นตอนที่ 3 เมื่อติดกาวครบทั้ง 3 ชิ้นแล้ว ถุงที่ได้จะมีลักษณะเป็นส่งกระบอกให้ติดชุดส่งก๊าซจากตัวถุง โดยเลือกบริเวณที่จะติดให้อยู่ส่วนกลางของถุง พับถุงเป็นรูปสามเหลี่ยมแล้วตัดด้วยกรรไกรกว้าง 1 ซ.ม. จากนั้นติดชุดส่งก๊าซให้เกลียวในพีวีซีอยู่ด้านในถุง และเกลียวนอกพีอีสำหรับต่อกับสายส่งก๊าซอยู่ด้านนอก ควรระวังไม่ให้ปลายของเกลียวนอก - ใน ขีดข่วนกับถุง
ขั้นตอนที่ 4 ผูกท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ความยาว 1.2 เมตร ที่ปลายทั้งสองของถุงแล้วรัดด้วยยางในรถจักรยานยนต์เก่า ให้ปลายของท่อพีวีซีเข้าไปในถุงประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของท่อ ควรระวังไม่ให้ปลายท่อขูดหรือขีดกับพลาสติก ควรยกทั้งท่อและถุงไว้ ไม่ควรลากบนพื้นดินทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงรั่ว
ขั้นตอนที่ 5 ทดสอบการรั่วของถุงด้วยไอเสียจากรถยนต์ โดยการสอดปลายท่อเข้าที่ปลายท่อไอเสีย ส่วนท่ออีกฝั่งหนึ่งและทางเดินของท่อก๊าซให้ปิดด้วยถุงพลาสติกเพื่อป้องกันลมออก แล้วเร่งเครื่องยนต์นาน 5-10 นาทีถุงจะพองตัวขึ้น หรืออาจใช้เครื่องพ่นเมล็ดพืช/ปุ๋ย แทนก็ได้ หลังจากนั้นให้เกษตรกรช่วยกันยกถุงที่ได้นี้ไปยังบ่อที่ขุดเตรียมไว้แล้ว ควรระวังไม่ให้ถุงเกี่ยวโดนกิ่งไม้หรือของปลายแหลม
ขั้นตอนที่ 6 นำถุงลงหลุมจัดวางถุงให้ดี ต่อสายยางเข้ากับชุดต่อส่งก๊าซที่ถุง แล้วเติมน้ำให้ท่วมปลายท่อด้านในของถุงทั้งสองด้าน แกะพลาสติกที่มัดปลายท่อพีวีซีทั้งสองด้านออก
ขั้นตอนที่ 7 ทำบ่อหรือรางทางเข้าของมูลและบ่อล้น ที่ปลายท่อพีวีซีทั้งสองด้าน
ขั้นตอนที่ 8 ประกอบสายส่งก๊าซ พร้อมทั้งติดตั้งขวดปรับแรงดันและดักน้ำ โดยให้จุดแรกอยู่ใกล้กับบ่อหมัก ถ้าระยะทางระหว่างบ่อกับจุดที่จะใช้ก๊าซอยู่ไกลกันมากเกษตรกรสามารถติดตั้งขวดดักน้ำอีกหลายๆจุดก็ได้ ข้อควรระวังคือ ระยะทางอาจทำให้แรงดันก๊าซน้อยลง ควรเลือกบริเวณวางถุงให้ใกล้กับเตาหุงต้ม หากแรงดันก๊าซน้อย เกษตรกรอาจใช้แผ่นไม้กระดานทับด้วยถุงทรายวางเป็นคานถ่วงน้ำหนักให้เกิดแรงกด ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้ก๊าซแรงขึ้น และที่สำคัญเกษตรกรควรหมั่นตรวจสอบระดับระดับน้ำในขวดดักน้ำให้เต็มขวดอยู่เสมอ เพราะถ้าน้ำแห้งก๊าซจะระบายออกทางช่องระบายน้ำของขวด
ขั้นตอนที่ 9 ติดตั้งท่อส่งก๊าซและวาล์วควบคุมก๊าซบริเวณใกล้เคียงกับเตาหุงต้ม
สนใจขอรับบริการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ติดต่อคลินิกเทคโนโลยี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี
โทร 032-594071 ,086-6663133
