เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
วัสดุให้สีธรรมชาติที่เหมาะสมสำหรับการย้อมสีเส้นใยขนแกะในครั้งนี้ คือ
1. วัสดุให้สีธรรมชาติจากครั่ง โดยใช้เกลือปริมาณ 20g/l และน้ำมะขามปริมาณ 20g/l เป็นสารช่วยย้อม
2. วัสดุให้สีธรรมชาติจากดินแดง โดยใช้เกลือปริมาณ 20g/l และสารส้มปริมาณ 20 g/l เป็นสารช่วยย้อม
3. วัสดุให้สีธรรมาชาติจากก่อหิน โดยใช้เกลือปริมาณ 20g/l เป็นสารช่วยย้อม
สาเหตุที่สีย้อมธรรมชาติทั้ง 3 ชนิด สามารถย้อมติดบนเส้นใยขนแกะได้ เนื่องจากสีย้อมธรรมชาติมีขนาดโมเลกุลที่เล็กเหมือนสีสังเคราะห์ประเภทสีไดเร็กท์ (Direct Dyestuff) และสีแอสิด (Acid Dyesuff) ซึ่งสามารถย้อมติดบนเส้นใยขนแกะซึ่งเป็นเส้นใยโปรตีนได้ เนื่องจากเส้นใยโปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโนเชื่อมต่อกันเป็นโซ่ เรียกว่า โพลิเปปไทด์ (Polypeptide chain) ในส่วนของหมู่อะมิโน (NH3) เมื่อเส้นใยขนแกะถูกย้อมในสภาวะที่เป็นกรดหมู่ NH3 จะแตกตัวเป็น NH2+ ซึ่งเป็นประจุบวก สำหรับสีย้อมธรรมชาติจากครั่ง โมเลกุลของครั่งน่าจะเหมือนสีแอสิด เมื่ออยู่ในน้ำย้อมที่มีสภาวะเป็นกรดจะแตกตัวให้ประจุลบ ทำให้เกิดพันธะไอออนิก (Ionic bonds) ซึ่งเป็นพันธะที่เกิดจากแรงระหว่างประจุ ทำให้โมเลกุลของสีย้อมยึดติดกับโมเลกุลของเส้นใยขนแกะได้ จึงทำให้มีความคงทนต่อการใช้งานสูง สำหรับสีย้อมธรรมชาติจากดินแดงและก่อหิน สภาวะการย้อมที่สามารถย้อมติดเส้นใยขนแกะได้โดยใช้เกลือและสารส้มเป็นสารช่วยย้อมนั้น โมเลกุลของดินแดงและก่อหินน่าจะเหมือนสีไดเร็กท์ ซึ่งสามารถย้อมติดเส้นใยได้ด้วยแรงวัลเดอร์วาลล์ การใช้สารส้มเป็นสารช่วยย้อมของดินแดง เป็นการทำให้โมเลกุลของสีของดินแดงมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้แรงวัลเดอร์วาลล์มีความแข็งแรงมากขึ้น จึงทำให้มีความคงทนต่อการใช้งานสูง
สำหรับการทดสอบดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายนั้นได้ทำการทดสอบโดยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่กลุ่มทอผ้าขนแกะบ้านแปกแซม เป็นเวลา 2 วัน ผู้เข้ารับการทดสอบจำนวน 20 คน พบว่าผู้เข้ารับการทดสอบสามารถปฏิบัติการย้อมสีได้อย่างถูกต้องและมีความพึงพอใจในการเข้ารับการทดสอบคิดเป็นคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.63
รายงานผลงานวิจัย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยต่อยอดจากโครงการคลินิกเทคโนโลยี ประจำปี 2554
