เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ในปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์จำพวกโคนม ถือว่าเป็นอาชีพที่สำคัญของเกษตรกรไทย ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและสม่ำเสมอ แต่มีข้อจำกัดของการเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ คือ การขาดแคลนพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี และผลผลิตของพืชอาหารสัตว์มีความแปรปรวนสูง โดยจะมีปริมาณมากในฤดูฝน มีปริมาณน้อยและขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ง
เกษตรกรส่วนใหญ่จึงมักแก้ปัญหาโดยใช้เศษเหลือใช้จากไร่นา พวกฟางข้าว เศษต้นพืชต่างๆ เช่น พวกต้นข้าวโพดฝักอ่อน หรือต้นข้าวโพดหวาน เป็นต้น และเศษเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรจำพวกเปลือกสับปะรดและเปลือกฝักและซังข้าวโพดหวาน เป็นต้น มาช่วยเสริมเป็นแหล่งอาหารหยาบทดแทนพืชอาหารสัตว์ในช่วงฤดูขาดแคลนดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามทั้งพืชอาหารสัตว์และเศษเหลือจากแหล่งต่างๆ เหล่านี้ มีคุณค่าทางโภชนะต่ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างน้ำนมในโคนมและการเจริญเติบโตในโคเนื้อและโคฝูงทดแทน การแก้ไขปัญหาโภชนะของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการสร้างผลผลิต เกษตรกรมักจะใช้วิธีเสริมด้วยอาหารข้น จากการประเมินของนักวิชาการ พบว่า ต้นทุนในการผลิตในปัจจุบันเป็นค่าอาหารข้นเสียมากกว่าร้อยละ 70 ยิ่งในสภาวะปัจจุบันได้มีการเอาวัตถุดิบอาหารสัตว์จำพวกข้าวโพดและมันสำปะหลังไปผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานนับวันต้นทุนค่าอาหารสัตว์จะยิ่งแพงขึ้นทุกวัน
เทคโนโลยีที่สะดวกและช่วยต่อการจัดการด้านอาหารสำหรับเกษตรกรที่ใช้อาหารหยาบที่มีคุณภาพต่ำ แทนที่จะเสริมด้วยอาหารข้นที่มีราคาแพง น่าจะใช้วิธีการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและสะดวกต่อการให้สัตว์กิน เช่นแต่เดิมกรมปศุสัตว์และสถาบันศึกษาต่างๆได้แนะนำให้เกษตรกรผลิตยูเรียและกากน้ำตาลก้อน จากการศึกษาในต่างประเทศได้มีข้อเสนอแนะให้ผลิตเป็นโปรตีนก้อนที่มีคุณค่าทางโภชนะสูง ทั้งในแง่ของโปรตีนและพลังงานสำหรับสัตว์
สำหรับในประเทศไทยการทดลองผลิตโปรตีนก้อนเพื่อนำไปให้โครีดนมกินได้ดำเนินการโดยทีมงานจากภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 โดยการสนับสนุนโครงการจาก American Soybean Association International Marketing (ASAIM), Singapore ผลการทดลองปรากฏว่าการใช้โปรตีนก้อนทดแทนอาหารข้น 100 เปอร์เซ็นต์สามารถลดต้นทุนค่าอาหารข้นลงได้ประมาณ 1.3 เท่า (Mikled et al 2006, Mikled 2008) นอกจากนี้ทีมงานได้เขียนบทความข้อเสนอแนะนำให้เกษตรกรได้รู้จักใช้โปรตีนก้อนสำหรับเลี้ยงสัตว์ในชื่อเรื่องว่า “โปรตีนก้อนเลี้ยงสัตว์ ต้นทุนต่ำ ทำง่าย” ในวารสารวัวควาย&แพะแกะ ปีที่ 12 ฉบับที่ 122 เมษายน-พฤษภาคม 2551 หน้า 38-41
ดังนั้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการนี้จึงเชื่อได้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะได้รับประโยชน์ในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต มีการจัดการด้านอาหารอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนก้อนสำหรับเลี้ยงโครีดนมและโคฝูงทดแทน
2. เพื่อฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ในการจัดการอาหารฝูงโคนม
3. เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตและเตรียมอาหารสำหรับฝูงรีดนม
กิจกรรมและวิธีดำเนินงาน ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก
เทคโนโลยี
การผลิตโปรตีนก้อน ( Protein block) ที่มีคุณค่าทางโภชนะสูง โดยใช้ถั่วเหลืองทั้งเมล็ดผ่านระบบความร้อน (Heat-treated fullfat soybean) ยูเรีย กากน้ำตาล ไดแคลเซียมฟอสเฟต เกลือ และซีเมนต์ เป็นวัตถุดิบ เพื่อนำไปทดแทนอาหารข้นสำเร็จรูปที่มีราคาแพง สำหรับให้รีดนมและโคฝูง โดยโคนมยังสามารถให้ผลผลิตเท่าเดิมแต่จะลดต้นทุนอาหารลงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30-50
การเตรียมการ
โครงการฯจะติดต่อประสานงานผ่านสหกรณ์โคนมฯเป้าหมาย เพื่อรับสมัครสมาชิกของสหกรณ์ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมตามจำนวนที่กำหนดไว้ตามระยะเวลาและตามแผนฯ
คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการอบรม
เกษตรกรตัวอย่างผู้เลี้ยงโคนมที่สนใจที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในฟาร์มและสามารถถ่ายทอดความรู้ไปยังเกษตรกรรายอื่นต่อไปได้
การดำเนินงานหรือให้บริการ
ทำการอบรม/สัมมนาและการสาธิต โดยมีเนื้อหาของหลักสูตรการฝึกอบรมพอเป็นสังเขป ดังนี้
1. การอบรม
- หลักการให้อาหารและโภชนะสำหรับโครีดนมและโคฝูง
- ประโยชน์และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของการใช้โปรตีนก้อนทดแทนอาหรขนสำเร็จรูปในฝูงโคนม
- ชนิดของวัตถุดิบและคุณค่าทางโภชนะ
2. การสาธิต
- การเตรียมวัตถุดิบที่จะใช้ผสม
- ขั้นตอนการผสมวัตถุดิบเข้าด้วยกัน
- การบรรจุในภาชนะที่เตรียมไว้และหรือการทำเป็นก้อน
3. วิทยากร
จากภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ผศ.ดร. โชค มิเกล็ด
- นายวิสูตร ศิริณุพงษานันท์
- นายวิชิต สนลอย
- นายศุภฤกษ์ นาคกิตเศรษฐ
- นางสาวขนิษฐา ติคำ
- นายณรกมล เลาห์รอดพันธ์
- ทีมงานนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ติดต่อเพิ่มเติม เบอร์โทรศัพท์ 053-944-146 ต่อ 423,951
