เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
นักวิจัยมก.จดอนุสิทธิบัตร การพัฒนากรรมวิธีการผลิตเยื่อและกระดาษหัตถกรรมทนน้ำ โดยการเคลือบด้วยสารละลายกลูโคแมนแนน หรือแป้งจากผงบุก ทำให้กระดาษสามารถแช่อยู่ในน้ำได้นานโดยไม่ขาดและหลังจากกระดาษแห้งแล้วยังมีคุณสมบัติและสามารถใช้งานได้เหมือนเดิม เพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุทางการเกษตรที่นำมาผลิตกระดาษหัตถกรรมและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากกระดาษ
กระดาษหัตถกรรม หรือกระดาษทำด้วยมือ หมายถึงแผ่นวัสดุที่ได้จากการนำเอาเส้นใยตั้งแต่ชนิดเดียว หรือหลาย ๆ ชนิดมาผสมกัน แล้วนำไปทำเป็นแผ่นซึ่งมีหลายวิธี เช่น แบบญี่ปุ่น ใช้วิธีเพิ่มความหนาของเยื่อทีละชั้นโดยการกลิ้งเยื่อไปมาบนแผ่นกระดาษ แบบไทยและอีกหลายๆประเทศใช้วิธีให้เยื่อทับถมกัน เส้นใยส่วนใหญ่จะมีทั้งเส้นใยยาวจากเยื่อปอสา และเส้นใยสั้นจากพืชอื่น ๆ เช่น ชานอ้อย ฟางข้าว ผักตบชวา รวมทั้งมูลสัตว์ เช่นมูลช้าง การทำกระดาษหัตถกรรมใช้หลักการเพื่อให้เส้นใยมายึดเกาะกันระหว่างเส้นใย หลังจากกระดาษแห้งแล้วจะมีคุณภาพลดลงเมื่อสัมผัสกับน้ำหรือความชื้น กระดาษจะขาดได้ง่าย
นายวุฒินันท์ คงทัด นักวิจัยเชี่ยวชาญ ร่วมกับ ดร.สุธีรา วิทยากาญจน์ และ ดร. รัตนา ตันฑเทอดธรรม จากฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันพัฒนากรรมวิธีการผลิตกระดาษหัตถกรรมให้ทนน้ำ โดยการเคลือบด้วยสารละลายกลูโคแมนแนน หรือแป้งจากผงบุก เพื่อให้กระดาษหัตถกรรมมีคุณสมบัติทนต่อการแช่น้ำได้นานโดยไม่ขาดและหลังจากกระดาษแห้งแล้วสามารถใช้งานได้เหมือนเดิม
กลูโคแมนแนน (Glucomannan) เป็นสารประกอบสำคัญที่มีอยู่มากในหัวบุก และว่านหางจระเข้ ทางการแพทย์ใช้ในการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากมีใยอาหารสูง เป็นองค์ประกอบของน้ำตาลเชิงซ้อนขนาดใหญ่ที่ร่างกายของคนย่อยไม่ได้ และมีคุณสมบัติสามารถดูดซับน้ำได้ 50-200 เท่า เป็นสารเพื่อเนื้อสัมผัสที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้ประโยชน์ในการให้ความคงตัว กลูโคแมนแนนมีคุณสมบัติพิเศษในการเกิดเจล และผลจากงานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า สามารถเพิ่มความแข็งแรงของกระดาษได้ โดยการเคลือบด้วยสารละลายจากกลูโคแมนแนน และไคโตแซน
ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.
หัวหน้าโครงการ : นายวุฒินันท์ คงทัด
ฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
e-mail : rdiwan@ku.ac.th
https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=28451
