เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ปลานิลและปลาทับทิม เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย สามารถเลี้ยงได้ทุกสภาพของท้องถิ่น นิยมเลี้ยงทั้งในรูปแบบการค้าและเลี้ยงไว้บริโภคในครัวเรือน แต่การเพาะเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในปัจจุบัน เกษตรกรพบปัญหาปลาเป็นโรคสเตรปโตคอคโคซิส (Streptococcosis) ซึ่งเกิดจากเชื้อ Streptococcus agalactiae และ Streptococcus iniae มีผลให้ปลามีอัตราการรอดต่ำ และมีร่องรอยของโรคเหลืออยู่ ทำให้มีลักษณะไม่น่ารับประทาน และไม่สามารถนำไปขายได้
การตรวจวินิจฉัยโรคสเตรปโตคอคโคซิสแบบดั้งเดิมจะใช้เทคนิค PCR ซึ่งใช้เวลาทดสอบ 4 - 6 ชั่วโมง มีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างที่ซับซ้อน ใช้เครื่องมือจำเพาะ และมีราคาแพง ดังนั้น นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด ไบโอเทค ได้พัฒนาชุดตรวจ “blueAmp” ขึ้นเพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรคสเตรปโตคอคโคซีสในปลานิลและปลาทับทิม ซึ่งชุดตรวจ “blueAmp” นี้ใช้เทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรียที่อุณหภูมิเดียว โดยการผสมด้วยสี hydroxynaphthol blue (HNB) ทำให้การวิเคราะห์ผลการตรวจทำได้ง่าย ด้วยการสังเกตสีของสารละลายที่เปลี่ยนไปด้วยตาเปล่า โดยถ้าตัวอย่างมีการติดเชื้อ สีจะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีฟ้า ส่วนตัวอย่างที่ไม่มีการติดเชื้อสารละลายจะยังคงเป็นสีม่วงตามเดิม ซึ่งชุดตรวจนี้ใช้เวลาในการตรวจเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
ชุดตรวจ “blueAmp” เหมาะที่จะใช้ในการตรวจคัดแยกพ่อแม่พันธุ์ปลา ไข่ปลา และลูกปลา ที่เป็นพาหะ หรือเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรค ทำให้เกษตรกรได้ปลานิลและปลาทับทิมที่ปลอดจากโรคสเตรปโตคอคโคซิส ปลามีอัตราการรอดสูง แข็งแรง นำไปสู่ความสามารถในการเพิ่มผลผลิตปลานิลและปลาทับทิมในระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทย ปัจจุบันชุดตรวจนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบและพัฒนาประสิทธิภาพ ก่อนถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนที่มีความสนใจจะนำไปผลิตเป็นสินค้าต่อไป
ต้นทุนประมาณ ชุดละ 100 บาท
หน่วยบริการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
113 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์0 2564 6700 ต่อ 3626-41
โทรสาร0 2564 6586