เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
วิธีผลิต “ก๊าซชีวภาพ” จาก “ผักตบชวา”
“ก๊าซชีวภาพ” หรือ Biogas เกิดจากกระบวนการการย่อยสลายของวัสดุอินทรีย์ ทั้งจากพืช สัตว์หรือแม้แต่ของเสียจากสัตว์ รวมถึงขยะมูลฝอยที่เป็นขยะอินทรีย์ โดยกระบวนการย่อยสลายทั้งหมดเกิดขึ้นจากการทำงานของจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ในสภาวะที่ไร้อากาศ
ก๊าซชีวภาพสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติถ้ามีสภาพที่เหมาะสม หรือเกิดขึ้นในระบบผลิตก๊าซ กล่าวคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสารอินทรีย์หมักหมมกันเป็นเวลานานก็จะเกิดก๊าซ ชีวภาพ
ปัจจุบันได้มีโครงการวิจัยและอบรมการต่อยอดนำผักตบชวา วัชพืชที่ไร้ค่าและมีปริมาณมากในประเทศไทยมาต่อยอดแปรรูปเป็นพลังงานด้วยวิธี “ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง”
โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยความร่วมมือ ได้แก่ ‘ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง(ภาฯ) –ศวท.’ หรือชื่อย่อ ‘ศจพภ.’ ความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กับคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ซึ่งได้ถ่ายทอดนวัตกรรมดังกล่าวสู่ชุมชนแล้วเห็นผลจริง สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทนในภาคครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับวิธี “ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” มีสองขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1. นำภาชนะปิดสนิท ขนาดประมาณ 5-20 ลิตร สำหรับเก็บก๊าซ และมีก๊อกเปิด-ปิด มาแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่หั่นหรือบดแล้ว 1 ส่วน มูลสัตว์สด 1 ส่วน น้ำสะอาด 1 ส่วน และเหลือพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง ทิ้งไว้ 10-15 วัน จากนั้นทดสอบว่ามีก๊าซติดไฟหรือไม่ โดยใช้ลูกโป่งเป็นตัวทดสอบ
2. นำมูลสัตว์สด ที่ทำให้เกิดก๊าซติดไฟจากข้อ 1 มาหมักในถังหมักขนาด 200 ลิตร (ที่ได้รับแจกจากการอบรม) โดยใช้อัตราส่วนเช่นเดิม คือ แบ่งพื้นที่ถังหมักออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่หั่นหรือบดแล้ว 1 ส่วน มูลสัตว์สด 1 ส่วน น้ำสะอาด 1 ส่วน และเหลือพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง ทิ้งไว้ 10-15 วัน จากนั้นทดสอบว่ามีก๊าซติดไฟหรือไม่ โดยการต่อเข้ากับวาล์วและหัวแก๊ส
ข้อควรระวังที่สำคัญ ได้แก่ การเลือกมูลสัตว์สด การเก็บก๊าซ และการทดสอบก๊าซติดไฟ
สำหรับชาวบ้านหรือเกษตรกรท่านใดสนใจข้อมูลงานวิจัยวิธี “ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” ต้องการสอบถามข้อมูลหรือต้องการเข้าอบรมติดต่อได้ที่นายขวัญชัย นิ่มอนันต์ หน.ศจพก. อีเมล microreku@gmail.com , mppf@ku.ac.th โทร.095 054 8240, 083 559 8448,083 559 8448
