BY2 และแคดเมี่ยม ผลกระทบต่อทุเรียนไทย  18

คำสำคัญ : ทุเรียน  by2  แคดเมียม  

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 มีรายงานว่าทางการจีนได้ตรวจพบสารย้อมสี Basic Yellow 2 และสารแคดเมียมในทุเรียนที่ส่งออกจากประเทศไทย สาร Basic Yellow 2 ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ทำให้ทางการจีนกำหนดให้ทุเรียนทุกล็อตที่ส่งออกจากไทยต้องแนบผลการตรวจวิเคราะห์ที่ยืนยันว่าไม่มีการปนเปื้อนของสาร Basic Yellow 2 และแคดเมียม หากตรวจพบการปนเปื้อน สินค้าจะถูกระงับการนำเข้าโดยทันทีกรมวิชาการเกษตรของไทยได้ ตอบสนองด้วยการออกประกาศควบคุมการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตทุเรียน โดยห้ามใช้สารที่ไม่ได้รับอนุญาต และกำหนดให้โรงคัดบรรจุต้องแนบผลการตรวจวิเคราะห์สารดังกล่าวในทุกล็อตที่ส่งออก

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการ "4 ไม่" เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนไทยในปี 2568 ได้แก่
1. ไม่อ่อน 2. ไม่หนอน 3. ไม่สวมสิทธิ์ และ 4. ไม่มีสี ไม่มีสารเคมีต้องห้าม อย่างไรก็ตาม การตรวจพบสาร ปนเปื้อนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยอย่างมาก มีรายงานว่าทุเรียนที่ส่งออกไปจีนถูกตีกลับมากกว่า 100 ตู้ เนื่องจากไม่มีผลการตรวจสารย้อมสี Basic Yellow 2 ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำสินค้ามาจำหน่ายในประเทศแทนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ทางการไทยได้ประสานงานกับทางการจีน และจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจำนวน 6 แห่ง เพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์สาร Basic Yellow 2 และแคดเมียม
โดยมีศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์รวมกันได้ถึง 700 ตัวอย่างต่อวัน และคาดว่าจะสามารถรองรับ
การส่งออกทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบพบว่าสารชุบทุเรียนที่มีการปนเปื้อนแคดเมียมถูกนำเข้าจากประเทศจีน และมีนายทุนจีนใช้จัดการผลผลิตในล้งก่อนส่งออก ซึ่งสารดังกล่าวไม่ได้
รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสถานการณ์นี้สะท้อนถึงความสำคัญของการควบคุมคุณภาพ
และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรไทย เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของตลาดต่างประเทศ และป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้บริโภค

แคดเมียม คืออะไร

แคดเมียม (Cadmium) มีสูตรทางเคมีคือ Cd เป็นโลหะสีเงินขาว แวววาวเป็นสีน้ำเงินจางๆ ไม่มีกลิ่น มีลักษณะเนื้ออ่อน สามารถบิดโค้งงอได้และถูกตัดได้ง่ายด้วยมีด มักอยู่ในรูปแท่ง แผ่น เส้น ลวด หรือเป็นผงเม็ดเล็กๆ สามารถทำปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกว่าสารที่ให้ออกซิเจน เนื่องจากแคดเมียมทนทานต่อการสึกกร่อนได้เป็นอย่างดี จึงนำไปฉาบผิวโลหะต่างๆ ในทางอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก เหล็กกล้า ทองแดง โดยทั่วไปนำไปใช้ในการชุบโลหะ นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับทองแดง นิกเกิล ทองคำ บิสมัท รวมถึงยังใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดที่เติมประจุใหม่ได้อีกด้วย

แคดเมียมเกิดจากอะไร และพบได้ที่ไหน

แคดเมียมจะพบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ดังนั้นในการทำเหมืองสังกะสี จะได้ แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย ซึ่งแคดเมียมก็จะพบได้ในอาหาร ในน้ำ ในเหมือง และในส่วนน้ำทิ้ง หรือน้ำเสีย หรือในสีที่ผสมที่ใช้กับบ้านหรืออาคารได้อีกด้วย

แคดเมียม ทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง

แคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร จะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตจับกับโปรตีน albumin ถูกส่งไปที่ตับ ทำให้มีอาการอักเสบที่ตับ บางส่วนของแคดเมียมจะจับตัวกับโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง (metallothionein) เข้าไปสะสมในตับและไต และถูกขับออกทางปัสสาวะ

โดยขบวนการขับแคดเมียมออกจากไตเกิดขึ้นช้ามาก ใช้เวลาถึงประมาณ 20 ปี ถึงสามารถขับแคดเมียมออกได้ครึ่งหนึ่งของแคดเมียมที่มีการสะสมอยู่ในไตออกได้ ทำให้มีอาการกรวยไตอักเสบ ผู้ที่ได้รับแคดเมียมเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด ไต ต่อมลูกหมาก และตับอ่อน มีรายงานผู้ป่วยที่กินข้าวที่เพาะปลูกจากแหล่งที่ดินมีการปนเปื้อนแคดเมียม จะมีอาการของโรคกระดูกพรุน และกระดูกมีการเจริญที่ผิดปกติ รวมถึงโรคอิไต-อิไต (Itai-Itai disease) อีกด้วย

อันตรายของแคดเมียมต่อร่างกาย

ผลเฉพาะที่

ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ถ้าสัมผัสนานๆ อาจทำให้ความรู้สึกในการรับกลิ่นเสียไป และเกิดคราบ หรือวงสีเหลืองที่คอฟันทีละน้อย หลังจากที่แคดเมียมถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีครึ่งชีวิตที่ยาวนาน และคงอยู่ในตับและไต

ผลต่อร่างกาย

พิษเฉียบพลันส่วนใหญ่ เกิดจากการหายใจเอาฝุ่น หรือฟูมแคดเมียม ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อแคดเมียมถูกทำให้ร้อน โดยทั่วไป ระยะเวลาหลังจากสัมผัสสารจะยาวนาน 2-3 ชั่วโมงก่อนแสดงอาการ อาการเริ่มแรกจะมีการระคายเคืองเล็กน้อยของทางเดินหายใจส่วนต้น อีก 2-3 ชั่วโมงต่อมา จะมีอาการไอ เจ็บปวดใน ทรวงอก เหงื่อออกและหนาวสั่น ซึ่งเป็นอาการที่ คล้ายกับการติดเชื้อทั่วไปของทางเดินหายใจส่วนต้น

ต่อมา 8-24 ชั่วโมง หลังจากสัมผัสสารอย่างฉับพลัน อาจเห็นอาการระคายเคืองอย่างแรงที่ปอด เจ็บปวดในทรวงอก หายใจลำบาก ไอ และอ่อนเพลีย อาการหายใจลำบากจะรุนแรงขึ้น เมื่อเกิดน้ำท่วมปอดตามมา อันตรายจากกรณีเช่นนี้ มีถึง 15% ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีฟองอากาศในเนื้อเยื่อ และเนื้อปอดปูดนูนออกมา ซึ่งต้องใช้เวลานานในการรักษาให้หาย มีรายงานว่า พบพิษเรื้อรังเกิดขึ้น หลังจากสัมผัสฟูมแคดเมียมออกไซด์เป็นเวลานาน

การรักษาเบื้องต้น

หากร่างกายได้รับแคดเมียมจากการบริโภคอาหาร ให้ดื่มนมหรือบริโภคไข่ที่ตีแล้ว เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร หรืออาจทําให้ถ่ายท้องด้วย Fleet's Phospho Soda (เจือจาง 1:4 ด้วยนํ้า) 30-60 มิลลิกรัม เพื่อลดการดูดซึมแคดเมียม

 

1. สาร Basic Yellow 2 คืออะไร

นิยาม: สาร Basic Yellow 2 (ชื่อทางเคมี: Auramine O) เป็นสารสีย้อมที่อยู่ในกลุ่มสารเคมีประเภท azo dye ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การย้อมผ้า การผลิตกระดาษ และการตรวจทางจุลชีววิทยา (เช่น ย้อมกรดฟลูออเรสเซนต์)

ลักษณะ: เป็นผงสีเหลืองสด ละลายน้ำได้ดี

2. การเกิดขึ้นและพบได้ที่ไหน

แหล่งที่พบ:ในการใช้เป็นสีย้อมในอุตสาหกรรมการปนเปื้อนในอาหารหรือผลผลิต เช่น ผลไม้ที่ถูกย้อมเพื่อให้ดูสวยงาม

สาเหตุของการปนเปื้อนในอาหาร:ใช้เพื่อเพิ่มสีสันและความสวยงามในผลผลิต เช่น ทุเรียน ข้าว หรือขนมการปนเปื้อนอาจเกิดจากการใช้สารต้องห้ามในกระบวนการผลิต

3. ผลกระทบต่อร่างกาย

อันตรายจาก Basic Yellow 2: จัดเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งหมายถึง "อาจก่อมะเร็งในมนุษย์"ผลกระทบเฉียบพลัน: อาการคลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร

ผลกระทบระยะยาว: การสะสมของสารในร่างกายอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และทำลายระบบตับ ไต และระบบสืบพันธุ์

4. การรักษาเบื้องต้น

ในกรณีสัมผัสหรือรับประทานสาร Basic Yellow 2:

ล้างออกทันที หากสัมผัสกับผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่

ดื่มน้ำปริมาณมากเพื่อช่วยขับสารออกทางปัสสาวะ

รับถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) หากได้รับสารเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร เพื่อดูดซับสารพิษ

พบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการรุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง ควรพบแพทย์โดยด่วน

การรักษาระยะยาว: การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายใน

การลดความเสี่ยงโดยหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่อาจมีการปนเปื้อน

5. ข้อควรระวังและการป้องกัน

เลือกซื้ออาหารหรือผลผลิตจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ

หลีกเลี่ยงอาหารที่สีสดเกินธรรมชาติ หรือมีลักษณะผิดปกติ

ตรวจสอบฉลากหรือเอกสารรับรองมาตรฐานความปลอดภัย 


เขียนโดย : นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ekapong@mhesi.go.th